ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการนักเรียนไทยสุขภาพดีโรงเรียนวัดเนินยาง
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1
ผู้ประเมิน อลิษา สุคุณพันธ์
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation research) การประเมินโครงการนักเรียนไทยสุขภาพดีโรงเรียนวัดเนินยาง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการใน 4 ด้าน คือ 1) ประเมินสภาวะแวดล้อม (Context evaluation) ของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) ของโครงการ 3) ประเมินกระบวนการ ( Process evaluation ) ของโครงการและ 4) ประเมินผลผลิต (Product evaluation) ของโครงการโดยมุ่งหวังที่จะนําข้อมูลที่ได้ศึกษาไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการปรับปรุงโครงการนักเรียนไทยสุขภาพดีโรงเรียนวัดเนินยางในอนาคตอย่างยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ และนําข้อค้นพบที่ได้ไปใช้ประกอบเป็นข้อมูลในการกําหนดนโยบายและแนวทางการบริหารเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมีความพร้อมในการเรียนรู้ต่อไป กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาจำนวน 1 คน ครูโรงเรียนวัดเนินยาง จำนวน 8 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 62 คนและนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนวัดเนินยาง จำนวน 29 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง รวมกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากการศึกษา พบว่า
1. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม (Context evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับบริบทของหลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ของโครงการ พบว่า มีความสอดคล้องในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับ ครูผู้รับผิดชอบ ระยะเวลา งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และสถานที่ในการดำเนินโครงการ พบว่า มีความเหมาะสมเพียงพอในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานของโครงการในด้านขั้นตอน รูปแบบการจัดกิจกรรมการดำเนินงาน การประเมินผล รายงานผล เผยแพร่และขยายผลการปฏิบัติงาน พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต (Product evaluation) เป็นการประเมินเกี่ยวกับผลการดำเนินกิจกรรมจำนวน 5 กิจกรรม คือ 1) กิจกรรมพัฒนาบริหารจัดการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 2) กิจกรรมกิจกรรมโภชนาการและอาหารปลอดภัย 3) กิจกรรมออกกำลังกาย กีฬาและนันทนาการ 4) กิจกรรมทันตสุขภาพ และ 5) กิจกรรมเครือข่ายนักเรียนไทยสุขภาพดี พบว่า บรรลุเป้าหมายในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1.1 ผู้บริหารควรมีการวิเคราะห์บริบทของโรงเรียน ความจำเป็น วัตถุประสงค์ของโครงการให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด
1.2 สนับสนุนทรัพยากรทั้งทางด้านบุคลากร งบประมาณ สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ แหล่งเรียนรู้สถานที่ในการดำเนินงาน เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสถานศึกษา ครู ผู้ปกครองนักเรียน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิด สนับสนุน ส่งเสริม ดำเนินกิจกรรม มีการกำกับติดตามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอนามัยของนักเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ในการดูแลสุขภาพของผู้เรียนอย่างยั่งยืน
1.3 กำหนดขั้นตอนการจัดทำโครงการ สื่อสารสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน จัดประชุมเพื่อสะท้อนผลการดำเนินกิจกรรม จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.4 นิเทศ ติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภายในและภายนอกเครือข่าย
1.5 สนับสนุนให้นักเรียนได้นำเสนอผลงานนำนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพไปต่อยอดความรู้สู่ชุมชนภายนอกอย่างสม่ำเสมอ
2. ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการ/วิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรนำรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ไปประยุกต์ใช้ในการประเมินโครงการอื่น ๆ ของโรงเรียน เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการ กระบวนการดำเนินโครงการ และผลผลิตของโครงการ เพื่อนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้ในการวางแผนแก้ปัญหา หรือพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน
2.2 ควรมีการวิจัยพัฒนารูปแบบการบริหารโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน