บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนก่อนและหลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนและความพึงพอใจที่มีต่อการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
ดำเนินงานวิจัย ปีการศึกษา 2561 - 2563 (16 พฤษภาคม 2561 - 31 มีนาคม 2564) ใช้รูปแบบการวิจัยแบบ Control Group Pretest - Posttest Design
กลุ่มตัวอย่าง คือ ครู โรงเรียนวัดโพธิ์ทองเจริญ จำนวน 14 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 197 คน ปีการศึกษา 2562 จำนวน 186 คน และปีการศึกษา 2563 จำนวน 177 คน ผู้ปกครองใช้จำนวนนักเรียนเป็นหน่วยนับ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 5 ฉบับ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ฉบับที่ 1 : แนวทางการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน เครื่องมือเก็บข้อมูล มี 4 ฉบับ คือฉบับที่ 2 - 5 ฉบับที่ 2 : เครื่องมือประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ซึ่ง สพฐ. เป็นผู้สร้าง ผู้วิจัยได้นำมาทดลองให้ครูประเมินนักเรียนหาค่าความเชื่อมั่นได้ 0.9460 ฉบับที่ 3 : แบบประเมินความพึงพอใจของครู หาค่าความเชื่อมั่นได้ 0.982 ฉบับที่ 4 : แบบประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครอง หาค่าความเชื่อมั่นได้ 0.968 ฉบับที่ 5 : แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน หาค่าความเชื่อมั่นได้ 0.924
สรุปผลการวิจัย ได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาและผลการเปรียบเทียบคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ปีการศึกษา 2561 - 2563 อยู่ในระดับดีเยี่ยมและดี ร้อยละ 87.82, 93.02, และ 96.05 ตามลำดับ เมื่อพิจารณา ตามตัวชี้วัด 8 คุณลักษณะ เปรียบเทียบกัน ของปีการศึกษา 2561 และ 2563 พัฒนาขึ้น ภาพรวมร้อยละ 8.2 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่พัฒนาขึ้นเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ 1) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ พัฒนาขึ้นร้อยละ 15.40 2) ซื่อสัตย์สุจริต พัฒนาขึ้นร้อยละ 15.40 3) มีจิตสาธารณะ พัฒนาขึ้นร้อยละ 15.30 4) ใฝ่เรียนรู้ พัฒนาขึ้นร้อยละ 15.20 5) อยู่อย่างพอเพียง พัฒนาขึ้นร้อยละ 13.90 6) มีวินัย พัฒนาขึ้นร้อยละ 13.70 7) มุ่งมั่นในการทำงาน พัฒนาขึ้นร้อยละ 9.50 8) รักความเป็นไทย พัฒนาขึ้นร้อยละ 6.30
เมื่อพิจารณาเป็นรายระดับชั้น ปีการศึกษา 2563 พบว่า ร้อยละนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 - ป.6 มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับดีเยี่ยมและดี ร้อยละ 94.00 - 100 ส่วนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์อยู่ในระดับดีเยี่ยมและดี ร้อยละ 88.90
2. การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ภาพรวม พบว่า ค่าเฉลี่ยคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนก่อนและหลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยค่าเฉลี่ยคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน หลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยฯ ก่อนการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัดของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 คุณลักษณะ พบว่า ทุกคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนก่อนและหลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยค่าเฉลี่ยคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนหลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยฯ ก่อนการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
เมื่อพิจารณาผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตัวชี้วัด 8 คุณลักษณะ ก่อนและหลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ปีการศึกษา 2561 กับปีการศึกษา 2563 ของนักเรียนกลุ่มเดิม คือ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ปีการศึกษา 2561) กับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ปีการศึกษา 2563) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 (ปีการศึกษา 2561) กับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ปีการศึกษา 2563) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ปีการศึกษา 2561) กับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ปีการศึกษา 2563) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ปีการศึกษา 2561) กับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (ปีการศึกษา 2563) พบว่า ค่าเฉลี่ยของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน ตัวชี้วัด 8 คุณลักษณะ ทุกกลุ่มเมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีค่าเฉลี่ยคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน หลังการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยฯ ก่อนการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน
3. ความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน และการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน พบว่า ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนมีความพึงพอใจคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน 8 คุณลักษณะในระดับมากที่สุด และพึงพอใจการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนในระดับมากที่สุด โดยพึงพอใจต่อคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 คุณลักษณะ และพึงพอใจต่อการดำเนินงานการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง