การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ ความรู้และทักษะด้านสิ่งแวดล้อมของนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก 2) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรมี 4 ขั้นตอน คือ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้บริหารจำนวน 5 คน ครูจำนวน 126 คน นักเรียนจำนวน 348 คน บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 41 คน โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็น 2) สร้างหลักสูตร 3) ทดลองใช้หลักสูตร กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 30 คน ได้มาโดยสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) และ 4) ปรับปรุงหลักสูตร เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน คือ แบบสอบถาม เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบวัดความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อม แบบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าทดสอบที (t-test) แบบ Dependent Samples
ผลวิจัยพบว่า
1. ข้อมูลพื้นฐานโดยภาพรวม ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
มีความคิดเห็นต้องการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาอยู่ในระดับมากทุกด้าน (x̄=4.00, S=.69) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือด้านการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา (x̄ =4.46, S=.73) รองลงมาคือด้านความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อม (x̄ =4.04, S=.72) ด้านความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม (x̄ =3.95, S=.78) และด้านทักษะด้านสิ่งแวดล้อม (x̄ =3.95, S=.77) ตามลำดับ
2. หลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาที่พัฒนาขึ้น มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ทฤษฎีและแนวคิดพื้นฐาน 2) หลักการ 3) จุดมุ่งหมาย 4) เนื้อหา 5) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และ6) การวัดผลและประเมินผล โดยเนื้อหา ประกอบด้วย 7 หน่วยการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียน 20 ชั่วโมง ได้แก่ หน่วยที่ 1 บทนำ เวลา 1 ชั่วโมง หน่วยที่ 2 การจัดการทรัพยากรดิน เวลา 2 ชั่วโมง หน่วยที่ 3 การบริหารจัดการน้ำ เวลา 2 ชั่วโมง หน่วยที่ 4 การจัดการคุณภาพอากาศและภาวะโลกร้อน เวลา 2 ชั่วโมง หน่วยที่ 5 การบริหารจัดการขยะ เวลา 2 ชั่วโมง หน่วยที่ 6 การบริหารจัดการด้านพลังงาน เวลา 2 ชั่วโมงและหน่วยที่ 7 ภูมินิเวศกับบริบทชุมชน เวลา 9 ชั่วโมง โดยใช่รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 2 รูปแบบคือ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บันได 7 ขั้น
3. ผลการเปรียบเทียบความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของนักเรียนหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองและสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการเปรียบเทียบทักษะด้านสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนทดลอง และผลการเปรียบเทียบทักษะด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมหลังการทดลองสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. ผลการเปรียบเทียบความความคิดเห็นด้านความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อมหลังทดลองสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
6. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนด้วยหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษาในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ =3.94, S=.47) รายด้านพบว่าทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการวัดและประเมินผล (x̄=4.07, S=.75) ด้านหลักสูตร (x̄ =4.01, S=.66) ด้านสื่อการเรียนรู้ (x̄ =3.94, S=.49) ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (x̄ =3.91, S=.69) และด้านครูผู้สอน (x̄ =3.77, S=.76) ตามลำดับ
คำสำคัญ หลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา ความตระหนักรู้ต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม
ทักษะด้านสิ่งแวดล้อม