รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน
โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี
ผู้วิจัย นางกรกมล เพิ่มผล ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาความต้องการจำเป็นและแนวทางในการพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยตามรูปแบบการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนของการวิจัย ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบ ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบ ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลรูปแบบ แหล่งข้อมูลได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน ครูผู้สอนจำนวน 47 คน และกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 ปีการศึกษา 2562 กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตาราง Krejcie. and Morgan จำนวน 300 คน จากประชากรนักเรียนทั้งหมด จำนวน 1,018 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน 2) แบบประเมินสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน 3) แบบสอบถามความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการอบรม 4) แบบประเมินคุณภาพผลงานโครงงานของนักเรียน 5) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน 6) ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู 7) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
และการทดสอบค่าที
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลศึกษาสภาพปัญหาความต้องการจำเป็นและแนวทางในการพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน พบว่า 1) การพัฒนาครูเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนั้นการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีศักยภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่จะช่วยส่งเสริมให้ครูทำงานเต็มตามศักยภาพของตนและเกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ ก่อให้เกิดคุณภาพการศึกษาตามมา 2) ปัญหาการดำเนินการการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานของโรงเรียน ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนน้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 3) รูปแบบที่เหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาครู เป็นรูปแบบตามแนวคิดของคีฟ (Keeves, 1997) ซึ่งเป็นรูปแบบเชิงภาษา (Semantic Model) แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของรูปแบบ 4) ในการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน ครูควรได้รับความรู้ในเรื่องต่อไปนี้ คือ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน การเขียนรายงานโครงงาน การประเมินผลโครงงาน และการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน
2. ผลการสร้างและตรวจสอบคุณภาพของรูปแบบการพัฒนาครู มีองค์ประกอบ 8 ส่วน คือ 1) ความเป็นมาและความสำคัญของรูปแบบ 2) หลักการของรูปแบบ 3) ลักษณะสำคัญของรูปแบบ 4) วัตถุประสงค์ 5) โครงสร้างเนื้อหา 6) กระบวนการพัฒนาครู 7) การประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบ และ 8) สภาพบ่งชี้การบรรลุเป้าหมาย กระบวนการพัฒนาครู มีชื่อเรียกว่า “PETER Model” ประกอบด้วยกระบวนการ 5 ขั้น คือ 1) การวางแผน (Planning) 2) การอบรม (Educate) 3) การปฏิบัติ (Take Action) 4) การประเมินผล (Evaluation) 5) การสะท้อนผล (Reflection)
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู พบว่า 1) ผลการเปรียบเทียบคะแนนการทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน ระหว่างก่อนและหลังการเข้ารับการอบรม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) ผลการประเมินสมรรถนะด้านการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.21,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.77) 3) ผลการสอบถามความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการอบรม โดยรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.31, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.85) 4) ผลการประเมินคุณภาพผลงานโครงงานของนักเรียน โดยรวม อยู่ในระดับดี (คะแนนเฉลี่ย = 4.41) 5) ผลการวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.09 , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.47)
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โรงเรียนเทศบาลเมืองปทุมธานี พบว่า 1) ผลการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู พบว่า รูปแบบการพัฒนาครูมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการประเมิน มาตรฐานการใช้ประโยชน์ มาตรฐานความเป็นไปได้ มาตรฐานความเหมาะสม และมาตรฐานความถูกต้อง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.41, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.31) 2) ผลการสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู โดยรวมเฉลี่ย อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.23,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.30)