หัวข้อการวิจัย รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
โรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม จังหวัดอุตรดิตถ์
ปีการศึกษา 2563
ชื่อผู้วิจัย นายธีระวัฒน์ อ้นทองทิม
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแนวทางในการพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อม จังหวัดอุตรดิตถ์ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 4) เพื่อประเมินคุณภาพรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยดำเนินการวิจัย ใน 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแนวทางในการพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสอบถาม การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์ กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 171 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง ซึ่งประกอบด้วย นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคีเครือข่าย และผู้บริหารระดับนโยบาย พบว่า 1) ระดับการดำเนินงานยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (1) ด้านนโยบาย มีการปฏิบัติอยู่ในระดับ ปานกลาง (x̄ = 2.91, S.D. = 0.85) และโรงเรียนเทศบาลวัดไผ่ล้อมและหน่วยงานต้นสังกัด มีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายของการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างชัดเจน (2) ด้านปัจจัยการดำเนินงาน มีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง x̄ = 3.03, S.D. = 0.55) และสถานศึกษามีการส่งเสริมและสนับสนุน ครูและบุคลากรให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนทางวิชาชีพ (PLC) เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก (x̄ = 4.42, S.D. = 0.64) และผู้บริหารสถานศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูวางแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (4) ด้านผลผลิต มีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง (x̄ = 3.11, S.D. = 0.71) และผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2562 ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และ (5) ด้านภาคีเครือข่าย มีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง (x̄ = 3.37, S.D. = 0.72) และภาคีเครือข่ายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษามีบทบาทในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่อนข้างน้อย 2) ผลการศึกษาปัญหาการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ได้ข้อมูลดังนี้ (1) ด้านนโยบาย ขาดกลไกประสานและเชื่อมโยงให้การทำงานสอดคล้องรับกัน และยังขาดความชัดเจนในแนวทาง การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (2) ด้านปัจจัยการดำเนินงาน ครูขาดรับการอบรม ทบทวน เพิ่มศักยภาพในการให้ความรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และภาระงานสอนของครูมีมาก และสื่อต่าง ๆ ยังไม่เหมาะสมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ครูขาดเทคนิค รูปแบบการสอนที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดความสนใจของนักเรียน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ (4) ด้านผลผลิต ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (5) ด้านการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา และภาคีเครือข่าย 3) แนวทางการพัฒนารูปแบบการบริหาร เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือ (1) ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา (2) กระบวนการของการบริหารแบบมีส่วนร่วม (3) แนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ (4) เป้าหมายของการบริหารแบบมีส่วนร่วม
ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดำเนินการออกแบบและพัฒนารูปแบบการการบริหารแบบมีส่วนร่วม ตรวจสอบความถูกต้องครอบคลุมของรูปแบบการบริหาร โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 17 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติมีประสบการณ์เกี่ยวกับบริหารสถานศึกษา ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยใช้แบบสอบถามและเทคนิคเดลฟาย พบว่า 1) รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มี 4 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารงานสถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนคณะครู ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวแทนคณะกรรมการสภานักเรียน และผู้สนับสนุนการบริหารงานสถานศึกษา ได้แก่ ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน ตัวแทนเครือข่ายชุมชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรหน่วยงานบริการสาธารณสุข ตัวแทนองค์กรสถาบันศาสนา ตัวแทนองค์กรสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรสถานประกอบการในท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรหน่วยงานตำรวจ องค์ประกอบที่ 2 กระบวนการของการบริหารแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ (1) การมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) (2) การมีส่วนร่วมในการวางแผน (Plan) (3) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Decision Making) (4) การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน (Implementation) และ (5) การมีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผล (Evaluation) องค์ประกอบที่ 3 แนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดำเนินการใน 8 แนวทาง ดังนี้ (1) การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร (2) การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (3) การพัฒนาการผลิต สื่อการเรียน การสอน และเทคโนโลยีทางการศึกษา (4) การพัฒนาระบบนิเทศ ติดตาม ประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (5) การส่งเสริมการทำวิจัยในชั้นเรียน (6) การพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ผ่านการลงมือปฏิบัติ (7) ผลการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความเป็นพลเมืองและพลโลก ทักษะชีวิต และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ และ (8) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพการศึกษา องค์ประกอบที่ 4 เป้าหมายของการบริหารแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 3 ด้าน ดังนี้ (1) ด้านนักเรียน คือ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการเป็นไปตามเป้าหมาย (2) ด้านครูและบุคลากร คือ ครูและบุคลากรได้รับการพัฒนาตามศักยภาพ (3) ด้านบริหารจัดการสถานศึกษา คือ สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการและพัฒนาโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสถานศึกษาเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองนักเรียนและชุมชน 2) ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกัน (IQR 1.50) ว่าองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมที่กำหนด สมควรใช้เป็นองค์ประกอบของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม (Mdn 3.50) และมีความถูกต้องครอบคลุมมากที่สุด (Mdn 4.50) ทุกองค์ประกอบ
ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน จากนั้นสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม และวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย ปัญหาและอุปสรรค ของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยการสอบถามและการสนทนากลุ่ม นักเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ภาคีเครือข่าย และผู้บริหารระดับนโยบาย จำนวน 162 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง พบว่า 1) ระดับการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.56, S.D. = 0.64) 2) และระดับความพึงพอใจในการบรรลุเป้าหมายของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.66, S.D. = 0.59) 2) ผลคะแนนการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ 3) จุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหาและอุปสรรค ของรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม (1) จุดเด่น คือ เป็นรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วมที่มาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ (2) จุดด้อย คือ แนวทางการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่กำหนดต้องใช้เวลาในการดำเนินการนาน และต่อเนื่อง มากกว่า 1 ปีการศึกษา (3) ปัญหาและอุปสรรค คือ ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา แต่ละคนเป็นผู้แทนองค์กร/หน่วยงานที่หลากหลาย จึงทำให้นัดหมายกำหนดการในการปฏิบัติงานค่อนข้างลำบาก
ระยะที่ 4 การประเมินคุณภาพรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม โดยสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับนโยบาย จำนวน 162 คน ซึ่งได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง ที่มีต่อรูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม ในด้านความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ พบว่า รูปแบบการบริหารแบบมีส่วนร่วม มีคุณภาพในภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากที่สุด