ผลการใช้รูปแบบการนิเทศโดยการอบรมปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก
สำหรับครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในจังหวัดสุรินทร์ มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ
1) เพื่อเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนก่อนและหลังการพัฒนาตามรูปแบบการนิเทศโดยการอบรมปฏิบัติการ 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนก่อนและหลังการพัฒนาตามรูปแบบการนิเทศโดยการอบรมปฏิบัติการ 3) เพื่อเปรียบเทียบเจตคติของครูผู้สอนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกก่อนและหลังการพัฒนาตามรูปแบบการนิเทศโดยการอบรมปฏิบัติการ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อครูผู้สอนที่ผ่านการพัฒนาตามรูปแบบการนิเทศโดยการอบรมปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายได้แก่ครูผู้สอนที่สมัครเข้าอบรมปฏิบัติการโครงการ TFE (Teams for Education) จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 60 คน จาก 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนแงงกวง โรงเรียนบ้านนาตัง-ตระแบก (กาญจนูปถัมภ์) โรงเรียนบ้านบัวโคก โรงเรียนบ้านหนองคันนา และโรงเรียนบ้านหนองโจงโลง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 2) แบบวัดเจตคติของครูที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 3) แบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และแบบวัดความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t-test) วิเคราะห์ข้อมูลโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผลการศึกษา พบว่า
1. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูหลังการฝึกอบรม ด้วยชุดฝึกอบรม เรื่อง การจัดการเรียนรู้เชิงรุก ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจสูงกว่าก่อนการอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยคะแนนเฉลี่ยหลังอบรมสูงกว่าก่อนอบรม
2. ความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของกลุ่มเป้าหมายหลังการพัฒนาตามรูปแบบการนิเทศโดยการการอบรมปฏิบัติการ สูงกว่าก่อนพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. เจตคติของครูผู้สอนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุก หลังการพัฒนาตามรูปแบบ
การนิเทศโดยการการอบรมปฏิบัติการ สูงกว่าก่อนพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนที่ผ่านการพัฒนา
ตามรูปแบบการนิเทศโดยการอบรมปฏิบัติการ เรื่องการจัดการเรียนรู้เชิงรุกหลังเรียนอยู่ในระดับมากที่สุด