บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนของโพลยาร่วมกับเทคนิคเพื่อนคู่คิด เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยนักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป 3) เพื่อศึกษาทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ของนักเรียนที่ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามขั้นตอนของโพลยาร่วมกับเทคนิคเพื่อนคู่คิด เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามขั้นตอนของโพลยาร่วมกับเทคนิคเพื่อนคู่คิด เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลวัดเหมืองแดง สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 40 คน ใช้รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรปฏิบัติ 3 วงจร เครื่องมือที่ใช้การในวิจัยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่แผนการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามขั้นตอนของโพลยาร่วมกับเทคนิคเพื่อนคู่คิด เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 12 แผน แต่ละแผนใช้เวลาสอน 1 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรม การจัดการเรียนรู้ของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบฝึกทักษะ แบบสัมภาษณ์ผู้เรียนและแบบทดสอบท้ายวงจร 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง บทประยุกต์ เป็นแบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ แบบทดสอบวัดทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เป็นอัตนัยจำนวน 2 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ตามขั้นตอนของโพลยาร่วมกับเทคนิคเพื่อนคู่คิด เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีขั้นตอนในการจัดกิจกรรม 5 ขั้น ดังนี้ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นการสร้างความสนใจให้นักเรียนเกิดความสนใจใฝ่เรียนรู้ โดยใช้เกมหรือสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อการเตรียมความพร้อมนักเรียน ในขั้นนี้จะแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบและทบทวนความรู้เดิม เพื่อให้เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ที่จะเรียนต่อไป 2) ขั้นพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา ผู้สอนนำเสนอบทเรียนหรือเนื้อหาใหม่ และเสนอกระบวนการที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามแนวขั้นตอนโพลยา ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยได้แก่ ขั้นที่ 1 การทําความเข้าใจปัญหา (Understanding the problem) เป็นการคิด(Think) โดยครูกระตุ้นความคิดของนักเรียน ด้วยการป้อนคําถามหรือสังเกตการณ์นักเรียนควรใช้เวลาคิดสักครู่เพื่อที่จะใช้ความคิดเกี่ยวกับคําถามซึ่งใช้ร่วมกับขั้นตอนของโพลยา ขั้นแรกคือ การทําความเข้าใจปัญหา เป็นการมองไปที่ตัวปัญหาโดยพิจารณาว่าโจทย์ถามอะไรโจทย์กําหนดอะไรมาให้บ้าง ขั้นที่ 2 การวางแผนการแก้ปัญหา (Devising a plan) เป็นขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด จะแก้ปัญหาอย่างไร โดยใช้ความร่วมมือโดยการจับคู่ (Pair) ใช้การจับคู่กันตามที่กําหนดให้ เช่น จับคู่กับเพื่อนที่นั่งใกล้ ๆ กัน หรือ การจับคู่โดยครูผู้สอนจัดให้นักเรียนกลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อนนักเรียนแต่ละคู่ร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับคําถามที่แต่ละคนหามาได้ แล้วเปรียบเทียบความรู้ที่ได้จากความคิดของแต่ละคนหรือจากบันทึกสั้น ๆ ที่แต่ละคนบันทึกพิจารณาว่าคําถามของฝ่ายไหนที่คิดว่าเป็นคําตอบที่ดีที่สุด น่าเชื่อถือมากที่สุด และมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากที่สุด ขั้นที่ 3 การดําเนินการตามแผน (Carrying out the plan) เป็นขั้นตอนที่ลงมือปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ได้คําตอบของปัญหา ขั้นที่ 4 การตรวจสอบ โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ (Share) หลังจากที่นักเรียนช่วยกันคิดภายในคู่ของตนเอง ครูจะเรียกนักเรียนแต่ละคู่มาแลกเปลี่ยนความคิดในคู่ของตนกับเพื่อนในห้องเรียนและร่วมกันตรวจสอบความถูกต้อง โดยการตรวจสอบผล (Looking back) เป็นการมองย้อนกลับไปที่ขั้นตอนต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้ถูกต้องสมบูรณ์ 3) ขั้นสรุป นักเรียนและครูร่วมกันสรุปแนวคิดและหลักการเพื่อเลือกแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด และครูช่วยสรุปเพิ่มเติม ถ้าเห็นว่านักเรียนสรุปได้ไม่ครอบคลุมเนื้อหา 4) ขั้นฝึกทักษะ นักเรียนฝึกทักษะจากบัตรกิจกรรมที่ครูสร้างขึ้นมีสถานการณ์ที่หลากหลาย นักเรียนเลือกแนวคิดที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา และสามารถอธิบายวิธีการแก้ปัญหาของตนเองได้ นักเรียนแต่ละคนอาจจะเลือกใช้วิธีการในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันซึ่งการฝึกทักษะจะช่วยให้นักเรียนมีความคงทนในการจำและพัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผล 5) ขั้นวัดและประเมินผล เป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาและวิธีการหาคำตอบของนักเรียนจากการร่วมกิจกรรมจากการปฏิบัติกิจกรรมและการทำแบบฝึกทักษะและตรวจสอบว่านักเรียนได้ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้
ผลที่ได้จากการสังเกตการณ์จัดกิจกรรมการเรียนรู้พบว่านักเรียนมีโอกาสได้ฝึก การทำงานร่วมกัน มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน กล้าแสดงความคิดเห็น มีความสุข ในการร่วมกิจกรรม มีความสามัคคีมีน้ำใจ มีความรับผิดชอบและความเป็นระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและมีทัศนคติที่ดีต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 77.50 และนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 87.50 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 70 ขึ้นไป
3. นักเรียนมีคะแนนทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จากแบบทดสอบการวัด
ทักษะการแก้ปัญหา ดังนี้ 1) ขั้นทำความเข้าใจปัญหานักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 81.88 2) ขั้นวางแผนแก้ปัญหา นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 72.50 3) ขั้นดำเนินการแก้ปัญหา นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 73.33 4) ขั้นแสดงการตรวจสอบคำตอบ นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 78.75 และคะแนนเฉลี่ยทั้งชั้นร้อยละ 75.88
4. นักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามขั้นตอนของโพลยาร่วมกับเทคนิคเพื่อนคู่คิด เรื่อง บัญญัติไตรยางศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมากเท่ากับ 4.36 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.72