ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม
เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21
ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์
ดำรง)
ผู้วิจัย : ธาริณี จินดาธรรม
ปีการศึกษา : 2563
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) มีความมุ่งหมาย คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) และ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามลักษณะการเก็บข้อมูล ดังนี้ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นการบริหารงานวิชาการ (R1) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก กลุ่มเครือข่ายพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นเชียงรายโซนเหนือ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย ปีการศึกษา 2563 โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 8 คน ระยะที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก (D1) แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การสร้างรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ จากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษาหรือรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 8 คน และการเลือกกลุ่มตัวอย่างจากคณะครู จากโรงเรียน 12 โรงเรียน จากการใช้ตารางสำเร็จรูปของเคร็ชชี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) จำนวน 169 คน ช่วงที่ 2 การนำรูปแบบการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้นไปทดลองใช้ (Try out) กับบุคลากรโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1 คน และคณะครูผู้สอน จำนวน 37 คน รวม 38 คน เพื่อหาประสิทธิภาพของเครื่องมือ ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก (R2) ที่สร้างขึ้น โดยการดำเนินการทดลองรูปแบบการบริหารงานวิชาการ ที่มีชื่อว่า Quality Control Stage USAE Model ที่มีขั้นตอนการบริหาร 4 ขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลประเมินพฤติกรรมความสามารถทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs จำนวน 2 ฉบับ และประเมินความพึงพอใจ ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ จากกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 1 คน คณะครูผู้สอน จำนวน 11 คน รวม 12 คน และระยะที่ 4 การประเมินผลและปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก (D2) ที่สร้างขึ้น โดยดำเนินการนำผลการประเมินพฤติกรรมความสามารถทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน และผลประเมินความพึงพอใจของรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กที่สร้างขึ้น มาสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้น เพื่อความเหมาะสม สรุป และเผยแพร่ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในระยะที่ 3
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นการบริหารงานวิชาการ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) พบว่า สภาพปัญหา และความต้องการจำเป็น ของโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในการปฏิบัติการ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพ เป็นคนไทยที่สมบูรณ์ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ จึงเป็นหน่วยงานที่รัฐต้องเอาใจใส่และให้การสนับสนุน ส่งเสริม ทุ่มเททรัพยากรในการบริหารจัดการ เพื่อให้โรงเรียนมีความเข้มแข็งในการดำเนินภารกิจพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุเจตนารมณ์แห่งชาติได้อย่างสมบูรณ์ โดยโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ปวงชนชาวไทย ส่วนใหญ่แล้วก็จะกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยจำนวนโรงเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำลังประสบปัญหาที่ท้าทายที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การมีโรงเรียนขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากประชากรวัยเรียนมีจำนวนลดลงและความนิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งบุตรหลานไปเรียนในเมืองและการอพยพของผู้ปกครอง จากการมีโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการจัดการศึกษาไม่สามารถสะท้อนคุณภาพและประสิทธิภาพได้เพียงพอ ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผลการเรียนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ การจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก และแนวทางการพัฒนาผู้เรียนที่สนองต่อความต้องการจำเป็นในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21 และแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว (ประเทศไทย 4.0) การบริหารการศึกษามีความสำคัญในโรงเรียน เพื่อให้งานการจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายทั้งในระดับประเทศ และในระดับของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการจัดการศึกษาในโรงเรียนที่มีความร่วมมือของผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในการวางเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาที่ชัดเจน การวางแผน การจัดโครงสร้าง และวางระบบงาน การใช้ทรัพยากร งบประมาณที่คุ้มค่า การสั่งการควบคุมและการประเมินผลงาน เพื่อปรับปรุงงาน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อประสิทธิผลของการบริหารงานวิชาการที่มีต่อคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. ผลการออกแบบและพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) ที่พัฒนาขึ้น มีชื่อว่า Quality Control Stage USAE Model ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หลักการ วัตถุประสงค์ เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ และกระบวนการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโดยกระบวนการบริหารงานวิชาการ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างความเข้าใจร่วมกัน (Understanding Teamwork Stage : U) โดยใช้ปัญหาเป็นฐานของการพัฒนา (Problem-Based Development) และการมีส่วนร่วมในการพัฒนา (Participative Development) ขั้นตอนที่ 2 การวางแผนการพัฒนา (School-Based Planning Stage : S) โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานแห่งการพัฒนา (School-Based Development) ขั้นตอนที่ 3 การปฏิบัติและการบูรณาการ (Action and Integration Stage : A) โดยใช้การปฏิบัติงานมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ทักษะจำเป็นพื้นฐานในศตวรรษที่ 21 (Results-Based Development) และการใช้สมองเป็นฐานแห่งการเรียนรู้ของผู้เรียน (Brain-Based Learning) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลการปฏิบัติงานและการรายงาน (Evaluation and Reporting Stage : E) โดยใช้วิจัยเป็นฐานของการพัฒนา (Research-Based Development Stage : R)
ผลการตรวจสอบความสมเหตุสมผลและความสอดคล้องของรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) แบบ Quality Control Stage USAE Model มีความสมเหตุสมผลกับหลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ที่นำมาใช้ในการสังเคราะห์รูปแบบ มีความสอดคล้องกับสภาพและความต้องการและจำเป็นในการบริหารงานวิชาการในโรงเรียนขนาดเล็ก และสภาพบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กที่สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล องค์ประกอบของรูปแบบ และการดำเนินการตามกระบวนการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ผลการตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ของรูปแบบการบริหาร งานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็กโดยการมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างทักษะจำเป็นพื้นฐาน 3Rs ในการเรียนรู้โลกศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) แบบ Quality Control Stage USAE Model มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และการใช้ประโยชน์ อยู่ในระดับมากทั้ง 3 ด้าน
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีชื่อว่า Quality Control Stage USAE Model พบว่า 1) จากการประเมินพฤติกรรมความสามารถด้านการอ่านได้ เขียนได้ และคิดเลขเป็น ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลศรีดอนมูล (บ้านด้ายปาราษฎร์ดำรง) พบว่า ในภาพรวมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีระดับคะแนนพฤติกรรมเฉลี่ยในระดับอ่านคล่อง เขียนคล่อง และคิดเลขได้ อย่างมีนัยสำคัญตามลำดับ 2) จากการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีชื่อว่า Quality Control Stage USAE Model มีระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับพึงพอใจมาก
4. ผลการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีชื่อว่า Quality Control Stage USAE Model 4 ขั้นตอน ควรมีการปรับปรุงในแต่ละขั้นตอนเพียงเล็กน้อย