การวิจัย การพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเข้มแข็ง โรงเรียนชุมชนหนองบัวโคก
(ทองวิทยานุกูล)
ผู้รายงาน นายพงษ์ศักดิ์ ดีอุดม
สถานศึกษา โรงเรียนชุมชนหนองบัวโคก (ทองวิทยานุกูล) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเข้มแข็ง เป็นการวิจัยแบบผสมผสานดำเนินการศึกษากับ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการสัมภาษณ์ ได้แก่ ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 21 คน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการสร้างและพัฒนารูปแบบ จำนวน 9 คน และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินรูปแบบ จำนวน 13 คน ได้จากการเลือกแบบเจาะจง และกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 250 คน ได้จากการสุ่มเลือกแบบแบ่งกลุ่มชั้นหลายขั้นตอน การเก็บรวบรวมข้อมูลได้จากการศึกษาเอกสาร แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน และแบบสอบถาม ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สู่การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ อาศัย 3 ขั้นตอน คือ การลดทอนข้อมูล การจัดระบบข้อมูลและการตีความนำไปสู่บทสรุป ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เส้นทางในขนาดอิทธิพลของปัจจัยทั้งทางตรงและทางอ้อม การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (CFA) และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (r)
ผลการวิจัยพบว่า
1. แนวทางและปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารสถานศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา คือ ความเป็นผู้นำ การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารและครู หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ที่มีอิทธิพลทางตรงและทางอ้อม
2. รูปแบบการบริหารบนฐานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการบริหารจัดการ ผลลัพธ์ ผลกระทบ และข้อมูลป้อนกลับ ที่มีความเหมาะสมของรูปแบบภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยองค์ประกอบของรูปแบบมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์
3. ผลการใช้รูปแบบด้านการประกันคุณภาพภายในอยู่ในระดับยอดเยี่ยม ด้านคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ของผู้เรียนชั้น ป. 6 และ ม. 3 อยู่ในระดับดี-ดีเยี่ยม ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของผู้เรียนสูงขึ้น ด้านสมรรถนะครูแบบมืออาชีพในการจัดการเรียนรู้ ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ด้านความพึงพอใจต่อรูปแบบภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และความสัมพันธ์ของรูปแบบกับด้านความพึงพอใจมีความสัมพันธ์เชิงบวก
คำสำคัญ: รูปแบบการบริหารสถานศึกษา, แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง, การยกระดับคุณภาพการศึกษา