ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนโรงเรียน
เทศบาลบ้านส่องนางใย
ผู้ประเมิน นายอุดม การะพัตร
ปีที่ประเมิน 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนเทศบาล บ้านส่องนางใย ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินบริบทของโครงการเกี่ยวกับความต้องการจำเป็น ความสอดคล้องและความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ของโครงการ 2) ประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ เกี่ยวกับความพร้อมของบุคลากร ความพร้อมของสถานที่ ความเพียงพอของงบประมาณและความเหมาะสมของปัจจัยในการดำเนินงาน 3) ประเมินกระบวนการของโครงการเกี่ยวกับการมี ส่วนร่วมในการวางแผน การมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในการใช้แหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ครู และการนิเทศติดตามโครงการ และ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการ เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนามีความทันสมัยตามความต้องการของนักเรียน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อจัดการเรียนการสอนของครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อโครงการ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ ได้แก่ นักเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 265 คน ประกอบด้วยนักเรียน จำนวน 125 คน ครู จำนวน 15 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 125 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินโครงการสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมินโดยพิจารณาเป็นรายประเด็นและตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกประเด็นและทุกตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้
1. ผลการประเมินบริบท โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ และความสอดคล้องของวัตถุประสงค์
2. ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ ความพร้อมของบุคลากร มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพร้อมของอาคารสถานที่ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ความเพียงพอของงบประมาณ ได้รับเงินสนับสนุนเพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 100 ผ่านเกณฑ์การประเมิน และปัจจัยที่ใช้ในการดำเนินงาน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินกระบวนการ โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดมีความเหมาะสมในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การมีส่วนร่วมของนักเรียนเกี่ยวกับการร่วมประชุมวางแผนการดำเนินงานในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน การมีส่วนร่วมของครูเกี่ยวกับการวางแผนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการใช้แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน และการนิเทศติดตามโครงการ
4. ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ทุกตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมิน คือ แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับการพัฒนามีความทันสมัยตามความต้องการของนักเรียน ครูและผู้ปกครองนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 97 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพผู้เรียน มีความเหมาะสมในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ทักษะการใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อจัดการเรียนการสอน มีความเหมาะสมในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 75 ผ่านเกณฑ์การประเมิน ความพึงพอใจ ของผู้เกี่ยวข้อง โดยภาพรวม พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากและผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดย่อย พบว่า ทุกตัวชี้วัดย่อยมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมิน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของครู และความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียน