ชื่อเรื่องวิจัย การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ แบบมีส่วนร่วม โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา
ผู้วิจัย นางสาวจันทร์จิรา พิทักษ์
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา 2) เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจต่อการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ของโรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา
ประชากร ได้แก่ บุคลากรโรงเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียน โรงเรียนเทศบาล ๒ บ้านสะเดา ในปีการศึกษา 2563 ประกอบด้วย บุคลากรโรงเรียน จำนวน 48 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน นักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา จำนวน 693 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา จำนวน 693 คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรโรงเรียน จำนวน 48 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน จำนวน 13 คน นักเรียนของโรงเรียน จำนวน 248 คน ผู้ปกครอง จำนวน 248 คน กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 86 คน ได้แก่ บุคลากรโรงเรียน จำนวน 48 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน ผู้ปกครอง จำนวน 25 คน
วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าร้อยละสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยดำเนินการพัฒนาการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามบริบทและความจำเป็นของโรงเรียนใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) การบริหารและการจัดการ 2) การจัดเรียนรู้บูรณาการ 5 องค์ประกอบกับ 8 กลุ่มสาระ 3) การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ 4) การ บูรณาการการเรียนรู้พืชศึกษา และ 5) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
ผลการวิจัยพบว่า
1) รูปแบบการวิจัย ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม Participatory Action Research เป็นกระบวนการทำงานแบบบันไดเวียน P A O R ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 วางแผน Plan = P ขั้นที่ 2 ปฏิบัติ Action = A ขั้นที่ 3 สังเกตและตรวจสอบ Observe = O และขั้นที่ 4 สะท้อนผล Reflect = R จำนวน 2 วงรอบ โดย การพัฒนาในวงรอบที่ 1 เมื่อดำเนินการปฏิบัติครบทุกกิจกรรมแล้ว พบว่ากลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน แต่ยังมีปัญหาที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเติม โดยได้นำผลสะท้อนการปฏิบัติ ดังกล่าวไปสู่การพัฒนาในวงรอบที่ 2 ได้แก่ 1) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ 2) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ความสอดคล้องของหลักสูตรแกนกลางกับงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 3) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทาง Backward Design 4) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสื่อนวัตกรรมการสอนที่บูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5) การจัดกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ (Professional Learning Community : PLC) ด้านการจัดการเรียนรู้บูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เมื่อพัฒนาตามรูปแบบดังกล่าวแล้วพบว่า การดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ทุกด้านบรรลุตามเป้าหมายของกิจกรรม โดยก่อนและหลังการพัฒนาในวงรอบที่ 2 ครูมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนทุกด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีผลการนิเทศการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนหลังการพัฒนาในวงรอบที่ 2 รวมเฉลี่ยทั้ง 5 ด้าน อยู่ในระดับดี เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการบริหารและการจัดการ อยู่ในระดับดีมาก ด้านการจัดเรียนรู้บูรณาการ 5 องค์ประกอบกับ 8 กลุ่มสาระ อยู่ในระดับดี ด้านการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ อยู่ในระดับดี ด้านการบูรณาการการเรียนรู้พืชศึกษา อยู่ในระดับดี และด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน อยู่ในระดับดี
2) ผลการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน พบว่าผลการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รวม 5 ด้าน โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านการบริหารและการจัดการ อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการจัดเรียนรู้บูรณาการ 5 องค์ประกอบกับ 8 กลุ่มสาระ อยู่ในระดับมากที่สุด ด้านการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ อยู่ในระดับมาก ด้านการบูรณาการการเรียนรู้พืชศึกษา อยู่ในระดับมาก ด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้งานสวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
3) ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน รวม 5 ด้าน โดยเฉลี่ย อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน จัดเรียงจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการบริหารและการจัดการ ด้านการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 5 องค์ประกอบ ด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ด้านการบูรณาการการเรียนรู้พืชศึกษา และด้านการจัดการเรียนรู้บูรณาการ 5 องค์ประกอบกับ 8 กลุ่มสาระ