ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวงเพื่อพัฒนา
ศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน
ผู้วิจัย นางวาสนา แม้นญาติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการ
ชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวง สำนักการศึกษา
เทศบาลนครขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวงเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน 2) เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวงเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน 3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวงเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน และ 4) เพื่อประเมินความพึงพอใจและปรับปรุงแก้ไขการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวงเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 73 คน สุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบประเมินความพึงพอใจ และการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติที่ใช้ในการทดสอบ ค่าที (t-test) แบบ Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา(Content Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
1. โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองแวงเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในชุมชนแออัดริมทางรถไฟ สภาพภูมิสังคมของชุมชนผู้ปกครองส่วนใหญ่ของโรงเรียนมีความขาดแคลนในทุกๆด้าน การทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความลำบาก ผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อการศึกษาน้อย สภาพครอบครัวแตกแยก ขาดความอบอุ่น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย บางครอบครัวต้องดำรงชีวิตหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอดในแต่ละวัน มีอาชีพไม่แน่นอน ผู้ปกครองไม่มีเวลาใส่ใจในการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน จึงเป็นผลทำให้เด็กไม่ได้รับการพัฒนาด้านจิตใจหรือปัญญาภายในที่จะช่วยให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข
2. รูปแบบและวิธีการที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า R2L Model ที่นำไปดำเนินการจัดการศึกษา ปรากฏว่า มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้
3. การนำรูปแบบการจัดการศึกษาไปใช้ในการดำเนินงานให้แก่ ครู คณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ผลการทดลองใช้อยู่ในระดับมาก (x ̅= 4.32) ผลการพัฒนาอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.40) และผลการเปรียบเทียบการทดลองก่อน หลังการพัฒนา มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ครู และนักเรียนมีความพึงพอใจโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.63)