ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับ
การจัดการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติ
รายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน ชุดการแสดงโฮมฟ้อนศรัทธา ศรีนางใย สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางสาวทิพย์พิมาน ทองชมภู
หน่วยงาน โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย กองการศึกษา เทศบาลเมืองมหาสารคาม
ปีที่ทำการวิจัย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
ในการพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน 2) สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติ รายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน ชุดการแสดงโฮมฟ้อนศรัทธา ศรีนางใย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบที่พัฒนาขึ้น ดังนี้ หาประสิทธิภาพของรูปแบบ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะปฏิบัติของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 จำนวน 24 คน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนรายวิชาดนตรีนาฏศิลป์ จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสัมภาษณ์ 2) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ 5) แบบวัดทักษะปฏิบัติ 6) แบบวัดความพึงพอใจ และ 7) แบบประเมินความคิดเห็นต่อการใช้รูปแบบ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบ t-test (Independent system) ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า ปัญหาการเรียนวิชานาฏศิลป์ ส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน บุคลิกภาพของครูนาฏศิลป์โดยครูต้องมีความสามารถ ความชำนาญในการรำ และพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และความต้องการในการเรียนนาฏศิลป์ส่วนใหญ่การสอนให้เน้นทักษะปฏิบัติ เน้นให้นักเรียนกล้าแสดงออก ตามความเข้าใจ โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะให้คำปรึกษา ฝึกให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติ รายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน ชุดการแสดงโฮมฟ้อนศรัทธา ศรีนางใย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (RSMECC Model) มีองค์ประกอบที่พัฒนาขึ้น 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการจัดกิจกรรม 6 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ทบทวนความรู้เดิม ขั้นที่ 2 การแสวงหาความรู้ใหม่ ขั้นที่ 3 การจัดการเรียนรู้ ขั้นที่ 4 แลกเปลี่ยนแนวคิด ขั้นที่ 5 สื่อสารและนำเสนอ ขั้นที่ 6 สรุปและนำหลักการไปประยุกต์ใช้ ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีคุณภาพเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.53
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติ รายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน ชุดการแสดงโฮมฟ้อนศรัทธา ศรีนางใย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (RSMECC Model) พบว่า 1) ประสิทธิภาพของรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.98/84.56 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ 2) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น มีทักษะปฏิบัติหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
ด้วยรูปแบบที่พัฒนาขึ้น โดยรวมอยู่ในระดับมาก
4. ครูผู้สอนรายวิชาดนตรีนาฏศิลป์มีความคิดเห็นต่อการใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการจัดการเรียนรู้แบบ CIPPA เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะปฏิบัติ รายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน ชุดการแสดงโฮมฟ้อนศรัทธา ศรีนางใย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (RSMECC Model) โดยรวมอยู่ในระดับมาก