บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทราบผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โรงเรียนบ้านทุ่งทอง ตำบลสะแกราบ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 ปีการศึกษา 2563 โดยใช้ซิปป์โมเดล (CIPP Model) ใน 4 ด้าน ได้แก่ ประเมินในด้านสภาพแวดล้อม (context evaluation) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (input evaluation) ด้านกระบวนการ (process evaluation) และด้านผลผลิต (product evaluation) ทำการศึกษาผลการประเมินตามความคิดเห็นของประชากร โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการประเมินเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในโครงการ ได้แก่ คณะครูและบุคลากรโรงเรียนบ้านทุ่งทอง จำนวน 8 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านทุ่งทอง จำนวน 7 คน (ยกเว้นผู้อำนวยการโรงเรียนและกรรมการผู้แทนครู) นักเรียนปีการศึกษา 2563 จำนวน 36 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 49 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 100 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ แบบสอบถามการประเมินโครงการ จำนวน 3 ฉบับ ที่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.973 , 0.953 และ 0.953 ตามลำดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) และ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard Deviation)
ผลการศึกษา พบว่า
ผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โรงเรียนบ้านทุ่งทอง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 1 ปีการศึกษา 2563ภาพรวม ในระดับมาก กล่าวคือ ด้านผลผลิต ด้านสภาพแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น และด้านกระบวนการ
1. ด้านผลผลิตของโครงการ มีประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คุณครูให้นักเรียนได้รับรู้ถึงประโยชน์ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อยู่เสมอ นักเรียนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และนักเรียนรับรู้ประวัติความเป็นมาของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ตามลำดับ ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย ได้แก่ นักเรียนได้เรียนตามตารางสอนที่คุณครูจัดไว้และตรงกับโรงเรียนต้นทาง
2. ด้านสภาพแวดล้อม มีประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงลำดับค่าค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรงเรียนมีความจำเป็นและต้องการพัฒนาด้านวิชาการด้วยการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โรงเรียนมีความพร้อมของเครื่องโทรทัศน์ ที่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ครบทุกห้องเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนตระหนักและให้ความสำคัญ ในการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้ายได้แก่ โรงเรียนความพร้อมด้านระบบอินเทอร์เน็ตที่รองรับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
3. ด้านปัจจัยเบื้องต้น มีประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงลำดับค่าค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก โรงเรียนมีความพร้อมด้านบุคลากรด้านเทคนิคเกี่ยวกับการติดตั้งระบบและการบำรุงรักษา โรงเรียนมีข้อมูลพื้นฐานและความต้องการวาง เป้าหมายของการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน และโรงเรียนมีการนิเทศ กำกับติดตามการจัดการเรียน การประเมินและรายงานผลทุกปี และนำผลการประเมินมาพัฒนาการสอนด้วยระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้าย ได้แก่ การบันทึกผลหลังสอน หลังจากการจัดการเรียนการสอนสิ้นสุดลงเป็นประจำ
4. ด้านกระบวนการ ประเด็นที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก อยู่ในระดับมาก ซึ่งเป็นจุดเด่นเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยเรียงลำดับค่าค่าเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรงเรียนดำเนินโครงการไปตามแผน และปฏิทินที่กำหนดไว้ เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานตามโครงการของผู้บริหาร เครื่องมือ ติดตามผลโครงการ มีความสอดคล้องเหมาะสมกับวิธีการดำเนินงานโครงการ ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยอันดับสุดท้ายได้แก่ ผู้ปกครองมีส่วนร่วมเสนอแนะผลการสรุปโครงการ