การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อพัฒนาชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและ ทักษะการปฏิบัติกีตาร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของ เดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ ก่อนเรียนและหลังเรียน 4) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการปฏิบัติกีตาร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ ก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนมะค่าวิทยา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 6 แผน รวมทั้งหมด 16 ชั่งโมง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบภาคปฏิบัติวัดทักษะการปฏิบัติกีตาร์ แบบประเมินทักษะการปฏิบัติกีตาร์ และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ค่าเฉลี่ยค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะ ปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน เป็นสื่อประสมที่มีการออกแบบอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาและวัตถุประสงค์ มีขั้นตอนชัดเจน ผู้เรียนสามารถศึกษาด้วยตนเอง ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน แนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์เน้นการพัฒนาทักษะปฏิบัติย่อย ๆ และพัฒนาเป็นทักษะใหญ่ที่สมบูรณ์ หากใช้ร่วมกับแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวกับแรงจูงใจ จะทำให้นักเรียนเรียนด้วยความรักความอยากรู้อยากเรียนและสนใจเนื้อหานั้น ๆ อย่างแท้จริง ผลการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ของครูผู้สอนวิชาดนตรี พบว่า ขาดสื่อนวัตกรรมการสอนปฏิบัติกีตาร์โดยเฉพาะที่เป็นขั้นตอนอย่างชัดเจน ที่จะสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะการปฏิบัติกีตาร์ได้ นักเรียนขาดแรงจูงใจในการเรียนกีตาร์ ไม่อยากเรียนทฤษฎี ไม่มีความรู้พื้นฐานและทักษะปฏิบัติกีตาร์มาก่อน เมื่อมาเรียนจึงไม่เข้าใจและปฏิบัติไม่ได้ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย และส่วนใหญ่ครูวัดผลโดยการให้นักเรียนสอบเล่นเพลงที่กำหนดในตอนท้ายภาคเรียนซึ่งเป็นการวัดความสำเร็จขั้นสุดท้ายที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการสอนทักษะปฏิบัติที่ดี และอาจทำให้นักเรียนไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนทักษะปฏิบัติ จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ และส่งผลให้มีทักษะการปฏิบัติกีตาร์ต่ำ และครูผู้สอนวิชาดนตรี มีความคิดเห็นตรงกันว่า แนวคิดของรูปแบบการสอนทักษะปฏิบัติของเดวีส์ เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะการปฏิบัติ มีขั้นตอนในการเรียนรู้ที่มุ่งช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในด้านการปฏิบัติ โดยให้ผู้เรียนสามารถกระทำหรือแสดงออกอย่างคล่องแคล่ว และชำนาญ สามารถปฏิบัติทักษะที่ประกอบทักษะย่อย ๆ ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ และพัฒนาเป็นทักษะที่สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จได้ดีและเร็วขึ้น รูปแบบนี้มุ่งช่วยพัฒนาความสามารถด้านทักษะปฏิบัติกีตาร์ได้ดี และผลการสอบถามเกี่ยวกับสภาพ ความต้องการเรียนกีตาร์พื้นฐาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ภาพรวมผลการสอบถามเกี่ยวกับสภาพ ความต้องการเรียนกีตาร์พื้นฐาน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar =4.75, S.D = 0.64)
2. ผลการพัฒนาชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติ ของเดวีส์ ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยขั้นการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นสาธิตทักษะหรือการกระทำ ขั้นที่ 2 ขั้นสาธิตและให้ผู้เรียนปฏิบัติทักษะย่อย ขั้นที่ 3 ขั้นให้ผู้เรียนปฏิบัติทักษะย่อย ขั้นที่ 4 ขั้นให้เทคนิควิธีการ ขั้นที่ 5 ขั้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงทักษะย่อย ๆ เป็นทักษะที่สมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วยชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน 6 เล่ม ได้แก่ เล่มที่ 1 ประวัติและความเป็นมาของกีตาร์ เล่มที่ 2 ทักษะการเล่นและการตั้งสายกีตาร์โปร่ง เล่มที่ 3 วิธีการอ่านโน้ตเบื้องต้นสำหรับกีตาร์โปร่งและแนวปฏิบัติ เล่มที่ 4 การปฏิบัติกีตาร์โปร่งเบื้องต้น เล่มที่ 5 คอร์ด C และ G7 และเล่มที่ 6 เพลง Ode to Joy ค่าประสิทธิภาพของชุดการสอน เท่ากับ 84.45/84.07 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80
3. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ ก่อนเรียนและหลังเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการเปรียบเทียบทักษะการปฏิบัติกีตาร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ ก่อนเรียนและหลังเรียน มีทักษะการปฏิบัติกีตาร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
5. ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดการสอนกีตาร์พื้นฐาน ตามแนวคิดทักษะปฏิบัติของเดวีส์ร่วมกับทฤษฎีแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการปฏิบัติกีตาร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้ง 3 ด้านโดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( X-bar 4.70, S.D = 0.67)