บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ชื่อผู้วิจัย นางขวัญใจ สีลาสม
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
สังกัด กองการศึกษา เทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ปีการศึกษา 2564
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) ศึกษาองค์ประกอบรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 2) ศึกษาสภาพปัจจุบัน สภาพที่พึงประสงค์ และความต้องการจำเป็นของรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 3) พัฒนารูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี และ 4) ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี ปีการศึกษา 2563 และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 266 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) การทดสอบค่าที (t-test)
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการศึกษาองค์ประกอบรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา และจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่า วิเคราะห์ตัวแปรที่สอดคล้องกันกับนักวิชาการได้ 6 ตัวแปร
2. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ ของรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
สภาพปัจจุบันของรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวบ่งชี้พบว่า เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ภาวะผู้นำปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และการเผชิญความจริง การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ มีความรักความเมตตาสู่ชุมชนกัลยาณมิตร มีวิสัยทัศน์ร่วม มุ่งมั่น เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โครงสร้างการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ทำงานเป็นทีมพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือ ตามลำดับ และสภาพที่พึงประสงค์ของรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวบ่งชี้พบว่า เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพ มีวิสัยทัศน์ร่วม มุ่งมั่น เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ภาวะผู้นำปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และการเผชิญความจริง ทำงานเป็นทีมพิจารณาด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือ โครงสร้างการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีความรักความเมตตาสู่ชุมชนกัลยาณมิตร ตามลำดับ
3. ผลการสร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา
รูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ส่วนนำ ส่วนที่ 2 เนื้อหา และส่วนที่ 3 เงื่อนไขความสำเร็จ
4. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี พบว่า โดยรวมรูปแบบการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูโดยใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาลเมืองปทุมธานี มีความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก มีความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด และมีความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ: การพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ วิชาชีพครู แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา