ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข
โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
ผู้รายงาน พรนภา ประยศ
ปีที่จัดทำ 2562-2563
บทสรุปผู้บริหาร
การประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินโครงการ ประกอบด้วย ครูโรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน/ผู้นำท้องถิ่นเขตพื้นที่บริการ ผู้ปกครองนักเรียน และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2562 รวมจำนวน 726 คน และปีการศึกษา 2563 รวมจำนวน 751 คน ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการ เครื่องมือที่ในการประเมิน คือ แบบประเมิน จำนวน 6 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติ คือ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ย
สรุปผลการประเมินโครงการ
ผลการประเมินโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้
1. ด้านบริบทของโครงการ โดยรวมมีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยโครงการมีความสอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดของกระทรวงศึกษาธิการ และโครงการมุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน มีระดับความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ โดยพบว่า (1) ด้านบุคลากร ครูมีความพร้อมให้ความร่วมมือและมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานโครงการ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (2) ด้านการบริหารจัดการ โรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองและชุมชน และการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในโรงเรียน มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (3) ด้านสื่อการเรียนรู้และวัสดุอุปกรณ์ พบว่า สื่อการเรียนรู้และวัสดุอุปกรณ์มีจำนวนเพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมในโครงการ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และ (4) ด้านงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณแต่ละกิจกรรมมีความเหมาะสม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
3. ด้านกระบวนการของโครงการ โดยรวมผลการประเมินโดยรวมปีการศึกษา 2563 สูงกว่าปีการศึกษา 2562 โดยปีการศึกษา 2562 มีผลการปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับมาก และปีการศึกษา 2563 โดยรวมมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ด้านผลผลิตของโครงการ โดยรวมมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ดังนี้
4.1 ผลประเมินตนเองตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้โครงการสถานศึกษาสีขาวปลอด ยาเสพติดและอบายมุข โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 คะแนนเต็ม 100 คะแนน คะแนนที่รวมได้ทั้งหมด 100 คะแนน มีระดับคุณภาพดีเด่น
4.2 ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการสถานศึกษาสีขาวปลอดยาเสพติดและอบายมุข ตามยุทธศาสตร์ 5 ด้าน พบว่า (1) นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียนจากการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน คิดเป็นร้อยละ 100 (2) นักเรียนมีสมรรถนะสำคัญอยู่ในระดับดี-ดีเยี่ยม ปีการศึกษา 2562 คิดเป็นร้อยละ 77.50 และปีการศึกษา 2563 คิดเป็นร้อยละ 77.85 (3) นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในระดับดี-ดีเยี่ยม ปีการศึกษา 2562 คิดเป็นร้อยละ 92.75 และปีการศึกษา 2563 คิดเป็นร้อยละ 93.30 (4) ผลการคัดกรองจำแนกนักเรียน พบว่า ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียนกลุ่มปลอด จำนวน 69 คน กลุ่มเสี่ยง จำนวน 8 คน และไม่มีกลุ่มเสพ กลุ่มติด และกลุ่มค้า และปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนกลุ่มปลอด จำนวน 53 คน กลุ่มเสี่ยง จำนวน 7 คน และไม่มีกลุ่มเสพ กลุ่มติด และกลุ่มค้า (5) ผลการสุ่มตรวจปัสสาวะของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 พบว่า ไม่มีนักเรียนที่ใช้สารเสพติด (6) นักเรียนกลุ่มเสี่ยงทุกคนที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพ ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 คิดเป็นร้อยละ 100 (7) ผลการดำเนินงานห้องเรียนสีขาวจำนวน 15 ห้องเรียน ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 อยู่ในระดับดีเด่นทั้ง 15 ห้องเรียน คิดเป็นร้อยละ 100
4.3 ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้โดย ปีการศึกษา 2562 โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ได้แก่ ผลลัพธ์ต่อนักเรียน ผลลัพธ์ต่อชุมชน ผลลัพธ์ต่อครู และผลลัพธ์ต่อโรงเรียน ตามลำดับ และ (2) ปีการศึกษา 2563 โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ได้แก่ ผลลัพธ์ต่อนักเรียน ผลลัพธ์ต่อโรงเรียน ผลลัพธ์ต่อครู และผลลัพธ์ต่อชุมชน ตามลำดับ
4.4 ความพึงพอใจต่อโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย พบว่า ปีการศึกษา 2562 ผู้เกี่ยวข้องและนักเรียนมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก และปีการศึกษา 2563 พบว่า ผู้เกี่ยวข้องและนักเรียนมีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้
1. จากผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ พบว่า โรงเรียนควรจัดทำโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และสอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของโรงเรียนและชุมชน
2. จากผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า โรงเรียนควรจัดเตรียมความพร้อมโดยการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข จัดหาสื่อการเรียนรู้และวัสดุอุปกรณ์ที่ความเหมาะสมและทันสมัยต่อการดำเนินกิจกรรมในโครงการ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในโรงเรียน
3. จากผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า 1) โรงเรียนควรสำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุขของโรงเรียนและชุมชน 2) ควรสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการบูรณาการการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในโรงเรียนร่วมกัน 3) จัดกิจกรรมให้ความรู้และป้องกันปัญหายาเสพติดในโรงเรียนที่หลากหลาย 4) มีการสุ่มตรวจปัสสาวะของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติด อย่างต่อเนื่อง 5) ควรมีการบันทึกผลการนิเทศ ติดตาม และการให้ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนางานต่อไป และ 6) ควรเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานสู่สาธารณชน
4. จากผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า โรงเรียนควรพัฒนาแหล่งเรียนรู้และสารสนเทศเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุขและการป้องกันยาเสพติด และควรจัดกิจกรรมพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติดเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหายาเสพติดในชุมชน
ข้อเสนอแนะในการประเมินโครงการครั้งต่อไป
1. ควรมีการศึกษากลยุทธ์การดำเนินงานโครงการสถานศึกษาสีขาว ปลอดยาเสพติดและอบายมุข โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย
2. ควรมีการวิจัยแนวทางการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกิจกรรมบูรณาการเพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดในโรงเรียนและลดปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของโรงเรียน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง