ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการ
เรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเทศบาลพัฒนา สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมือง
แก่งคอย จังหวัดสระบุรี
ผู้วิจัย นางสมหมาย สำรวมรัมย์
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลพัฒนา สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองแก่งคอย
จังหวัด สระบุรี
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนเชิงรุกของครู 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยงเพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการชี้แนะและระบบ พี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู 4) เพื่อสอบถามความคิดเห็นของครูต่อรูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โรงเรียนเทศบาลพัฒนา สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนเชิงรุกของครู กลุ่มตัวอย่าง คือ โรงเรียนเทศบาลพัฒนา สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองแก่งคอย
จังหวัดสระบุรี โดยการเจาะจงจากครูผู้สอน จำนวน 21 คน ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู กลุ่มผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน จำนวน 6 คน จาก 2 โรงเรียน และกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ครูผู้สอนโรงเรียน
โรงเรียนเทศบาลพัฒนา สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาด้านทักษะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก จำนวน 6 คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 จำนวน 50 คน ระยะที่ 4 การสอบถามความคิดเห็นของครูผู้สอนที่มีต่อรูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนในโรงเรียน สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำนวน 20 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จาก 4 โรงเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก แบบประเมินรูปแบบ/คู่มือการใช้รูปแบบ แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู แบบสังเกตพฤติกรรมการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อรูปแบบ CPPRT MODEL และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อสภาพปัจจุบันในการพัฒนาทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( =2.90) และสภาพที่พึงประสงค์ในการพัฒนาทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( =3.98)
2. การพัฒนารูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู ภายใต้รูปแบบ CPPRT MODEL ประกอบด้วย หลักการ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ ขั้นตอนการส่งเสริมทักษะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 5 ขั้น ซึ่งได้แก่ ขั้นที่ 1 การสร้างความสัมพันธ์ (Compliment : C) ขั้นที่ 2 การวางแผนสอนงานและเรียนรู้ (Preparation : P) ขั้นที่ 3 การลงมือปฏิบัติงาน (Practice : P) ขั้นที่ 4 การสะท้อนผลหลังการปฏิบัติ (Reflection : R) ขั้นที่ 5 การตรวจสอบ ติดตามผล (Testing and Follow-up : T) และการวัดและประเมินผล ซึ่งมีผลการตรวจสอบคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยรวมอยู่ในระดับมาก และรูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. กลุ่มผู้เข้าร่วมการพัฒนาตามรูปแบบ CPPRT MODEL มีความสามารถใน การจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีพฤติกรรมจากการสังเกตการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง โดยรวมอยู่ในระดับมาก และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โดยรวมอยู่ในระดับมาก
4. ครูผู้สอนมีความคิดเห็นรูปแบบการชี้แนะและระบบพี่เลี้ยง เพื่อส่งเสริมทักษะด้าน การจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด