ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวมของ
ครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 โดยใช้แนวทางการนิเทศแบบชี้แนะ
ผู้รายงาน นางพัฒน์นรี อุนตรีจันทร์
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อสำรวจข้อมูลโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนรวม และสภาพความต้องการในการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวม 2. เพื่อสร้างแนวทางการนิเทศแบบชี้แนะเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวม ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 3. เพื่อใช้แนวทางการนิเทศแบบชี้แนะเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวม ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 ขั้นตอนการดำเนินการพัฒนามี 3 ขั้นตอน คือ 1) สำรวจข้อมูลโรงเรียนที่จัดการ ศึกษาเรียนรวมและศึกษาสภาพความต้องการในการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 2) สร้างแนวทางการนิเทศแบบชี้แนะเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 3) ทดลองใช้แนวทางการนิเทศแบบชี้แนะเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลการพัฒนา ได้แก่ 1) แบบสำรวจข้อมูลความต้องการของครูผู้สอนและพี่เลี้ยงนักเรียนพิการในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวม 2)แบบประเมินความรู้ ความเข้าใจ ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวม 3) แบบประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนรวม ด้านผู้เรียน ด้านกระบวนการบริหารจัดการ และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน และ 4) แบบประเมินความเหมาะสมของแนวทางการนิเทศแบบชี้แนะเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวม กลุ่มตัวอย่างในการพัฒนา ได้แก่ ครูผู้สอนและพี่เลี้ยงเด็กพิการจำนวน 45 คน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 ปีการศึกษา 2561 โดยผู้รายงานใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) สถิติการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการพัฒนา พบว่า
1. ผลการสำรวจข้อมูลโรงเรียนที่มีเด็กมีความต้องการพิเศษเรียนรวม และสภาพความต้องการในการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า
1.1 จำนวนโรงเรียนที่จัดการศึกษาเรียนรวม 76 โรงเรียน
1.2 มีจำนวนนักเรียนที่มีความบกพร่องตามประเภทความพิการ จำนวน 1,008 คน
1.3 เมื่อแยกประเภทของความพิการ พบว่า
1.3.1 มีเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ มีจำนวนมากที่สุด จำนวน 773 คน
1.3.2 รองลงมาคือเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 83 คน
1.3.3 ส่วนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีจำนวนน้อยที่สุด จำนวน 2 คน
1.4 ครูผู้สอนและครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ มีสภาพความต้องการในการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนทุกรายการ ร้อยละ 100
2. ผลการสร้างแนวทางการนิเทศแบบชี้แนะเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวมของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 พบว่า สร้างกระบวนการนิเทศได้ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ขั้นที่ 2 แจ้งวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน ขั้นที่ 3 สนทนา/ซักถามการจัดการเรียนการสอน ขั้นที่ 4 วางแผนร่วมกันจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล ขั้นที่ 5 นำสู่การจัดการเรียนการสอน และแนวทางการนิเทศมีคุณภาพเหมาะสมทั้งด้านรูปฉบับ เนื้อหา การนำเสนอ และประโยชน์การนำไปใช้
3. ผลการทดลองใช้ ปรากฏว่า
3.1 ความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการเรียนการสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวมของครูผู้สอนหลังการพัฒนาสูงกว่าก่อนการพัฒนาและเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดร้อยละ70ปรากฏว่า สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อยู่ในระดับดี ( %= 74.59)
3.2 ผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนที่มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนรวม ปีการศึกษา 2561 ตามมาตรฐานด้านผู้เรียน อยู่ในระดับดีมาก ( %= 81.01) ด้านกระบวนการบริหารจัดการ อยู่ในระดับดี ( %= 77.51) และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับดีมาก
( %= 81.00) ปีการศึกษา 2562 ตามมาตรฐานด้านผู้เรียน อยู่ในระดับดีมาก( %= 83.17) ด้านกระบวน การบริหารจัดการ อยู่ในระดับดีมาก ( %= 80.99) และ ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับดีมาก ( %= 83.22) และปีการศึกษา 2563 ตามมาตรฐานด้านผู้เรียน อยู่ในระดับดีมาก ( %= 83.61) ด้านกระบวนการบริหารจัดการ อยู่ในระดับดีมาก ( %= 82.16) และด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับดีมาก ( %= 83.49)
3.3 เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนที่มีเด็กที่มี ความต้องการพิเศษเรียนรวม ปีการศึกษา 2561-2563 พบว่า มีผลการดำเนินงานสูงขึ้นในทุกด้าน
กิตติกรรมประกาศ
รายงานการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวมของครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1โดยใช้แนวทางการนิเทศแบบชี้แนะ ฉบับนี้ สำเร็จลุล่วงได้ด้วย ความกรุณาอย่างยิ่งจาก ดร.ประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลาเขต 1 นางดนยวรรณ ขุนปราบ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 นางสาวกาญจนา ศึกหาญ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา นางสาวประจวบ พุทธวาศรี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 16 นางสาวระวิวรรณ แซ่หลี อาจารย์สังกัดมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติวิทยาเขตยะลา นางสาวพรรณพร สงวนเขียว ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดกลาง นางพรทิพย์ สองภักดี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนชาติตระการโกศล และนางสาวมาศพร แกล้วทนง ครูชำนาญการพิเศษ ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 3 จังหวัดสงขลา ที่ได้กรุณาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการตรวจสอบเครื่องมือการพัฒนาผลงานทางวิชาการในครั้งนี้
ขอขอบพระคุณ ดร.ประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 นางดนยวรรณ ขุนปราบ และ บุคลากรกลุ่มนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลาเขต 1 ที่กรุณาตรวจสอบรายละเอียดและให้ข้อเสนอแนะซึ่งช่วยให้ผลงานทางวิชาการฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
ขอขอบคุณผู้บริหารโรงเรียน และคณะครู ของโรงเรียนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลาเขต 1 ที่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลในการพัฒนาผลงานทางวิชาการเป็นอย่างดียิ่ง
คุณค่าและประโยชน์อันพึงมีจากผลงานทางวิชาการฉบับนี้ ขอมอบบูชาแด่พระคุณ มารดา บิดา ครูอาจารย์ และผู้มีพระคุณ ที่ได้อบรมสั่งสอนให้ความรู้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
นางพัฒน์นรี อุนตรีจันทร์
ตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลาเขต 1