ชื่อผลงาน การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในกิจกรรม
ด้านวิชาการของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาสตูล
ผู้วิจัย นายจิตรกร หมีนสัน
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในงานกิจกรรมด้านวิชาการของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล และ 2) เพื่อศึกษาปัญหา และอุปสรรคการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในงานกิจกรรมด้านวิชาการของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล
ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน จำนวน 8 คน (ยกเว้นผู้อำนวยการสถานศึกษาเนื่องจากเป็นผู้วิจัย) ครู จำนวน 16 คน (ยกเว้นผู้แทนครูในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน) ผู้ปกครองนักเรียนและศิษย์เก่า จำนวน 140 คน รวมทั้งสิ้น 164 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถามความคิดเห็น และจัดสนทนากลุ่ม (Focus group) เฉพาะคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล จำนวน 8 คน เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในงานกิจกรรมด้านวิชาการ ของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล และเพื่อศึกษาปัญหา และอุปสรรคการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในงานกิจกรรมด้านวิชาการ ของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย () ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน () และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล มีส่วนร่วมในงานกิจกรรมด้านวิชาการของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.97,  = 0.96) โดยมีส่วนร่วมในด้านแหล่งเรียนรู้ สูงที่สุด ( = 4.42,  = 0.63) รองลงมา คือ ด้านการพัฒนาบุคลากร ( = 4.13,  = 0.89) ด้านการปรับปรุงห้องสมุด ( = 4.12,  = 0.90) ด้านการผลิตสื่อ ( = 4.11,  = 1.03) ด้านหลักสูตร ( = 4.10,  = 0.95) ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ( = 3.82,  = 0.99) ด้านการเรียนการสอน( = 3.80,  = 1.03) และ ด้านการนิเทศติดตามผล ( = 3.27,  = 1.23) ตามลำดับ
2. ปัญหา และอุปสรรคการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในงานกิจกรรมด้านวิชาการของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล ในแต่ละด้านดังนี้
2.1 ด้านการเรียนการสอน
คณะกรรมการสถานศึกษาบางส่วนยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนจึงควรได้มีการจัดประชุม ชี้แจงหรือทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ และในการจัดประชุมหรือชี้แจงการดำเนินงานของโรงเรียน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องบางคนยังไม่เข้าร่วมการประชุม ผู้บริหารโรงเรียนควรได้มีการจัดประชุมชี้แจงถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน
2.2 ด้านนิเทศติดตามผล
ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดประชุม ชี้แจงแนวทางการนิเทศติดตามผลให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้มีความรู้ ความเข้าใจ และเชิญให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในการนิเทศอย่างต่อเนื่อง
2.3 ด้านหลักสูตร
ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดประชุม ชี้แจงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้มีความรู้ ความเข้าใจ และเชิญให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
2.4 ด้านการผลิตสื่อ
ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดอบรมครูเพื่อให้สามารถผลิตสื่อการเรียนการสอนในกลุ่มสาระที่ตนเองรับผิดชอบได้ โดยให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตสื่อ เช่น การจัดหางบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ในการผลิตสื่อ เป็นต้น
2.5 ด้านแหล่งเรียนรู้
ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดให้มีการประชุม ชี้แจงการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ให้แก่คณะกรรมการสถานศึกษาร่วมกับครูผู้สอน และตัวแทนจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม ตลอดจนจัดหางบประมาณในการนำนักเรียนไปทัศนศึกษาและปฏิบัติกิจกรรมที่แหล่งเรียนรู่ต่าง ๆ จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
2.6 ด้านการพัฒนาบุคลากร
ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษา ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนศิษย์เก่า เช่น การจัดให้มีการประชุม อบรม สัมมนาร่วมกัน การศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นต้น
2.7 ด้านการปรับปรุงห้องสมุด
ผู้บริหารโรงเรียนควรจัดให้มีการปรับปรุงห้องสมุดของโรงเรียน ทั้งในส่วนของการจัดหางบประมาณสำหรับจัดซื้อหนังสือ การจัดกิจกรรมของห้องสมุด เช่น การประกวดยอดนักอ่าน เป็นต้น รวมทั้งงบประมาณสำหรับจัดตกแต่งห้องสมุดให้น่าสนใจรวมทั้งสื่ออิเลคทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น โดยจัดให้มีการประชุม ชี้แจงแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดให้คณะกรรมการสถานศึกษาได้รับรู้
2.8 ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
คณะกรรมการสถานศึกษายังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางและวิธี การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรของโรงเรียน ผู้บริหารควรจัดประชุม ชี้แจงแนวทางและวิธีการประเมินผลให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ