1. ความสำคัญของนวัตกรรม
การจัดการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 ได้กำหนดจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจน ในมาตรา 8 การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทย ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (กระทรวงศึกษาธิการ.2561:5) ซึ่งลักษณะดังกล่าวนั้น ครอบคลุมการพัฒนาการของมนุษย์ทุกด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย สติปัญญา สังคมและอารมณ์ ซึ่งเป้าหมายการพัฒนารอบด้านนี้อาจใช้คำสื่อความสั้นๆ เพื่อให้ได้คนดี มีสติปัญญาและมีความสุข ซึ่งเป็นนิยามของการพัฒนาอย่างสมดุลรอบด้านนั้นเอง
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561 เป็นหลักสูตรที่
มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึก ในความเป็นพลเมืองไทย ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ้งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 5) จึงกำหนดให้ภาษาไทยอยู่ในกลุ่มทักษะที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ซึ่งมีจุดประสงค์จะให้นักเรียน เรียนภาษาไทยเพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้ประโยชน์ต่างๆในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ความเพลิดเพลินและประกอบอาชีพ การเรียนการสอนภาษาไทยจึงมุ่งให้นักเรียนมีการพัฒนาการทางภาษาทั้งในด้านการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนตามวัย เน้นความเข้าใจ รักการอ่าน แสวงหาความรู้และมีเหตุผล (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 12)
การเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบันมิได้มุ่งหวังให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้เพียงอย่างเดียว หากมุ่งหวังให้นักเรียนนำความรู้ ความสามารถไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง สื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องรักษาภาษาไทยในฐานะที่เป็นสมบัติของชาติด้วย การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย การแจกลูกสะกดคำเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับผู้เรียน หากครูไม่ได้สอนแจกลูกสะกดคำให้กับนักเรียนในระยะเริ่มเรียนการอ่าน นักเรียนจะขาดหลักเกณฑ์การประสมคำทำให้เมื่ออ่านหนังสือในระดับชั้นเรียนที่สูงจะสบสนอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือผิด ซึ่งเป็นปัญหามากของนักเรียนไทยในปัจจุบัน ผลจากการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาอื่นๆ เพราะการอ่านเป็นเครื่องมือแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การอ่านแบบแจกลูกสะกดคำจะช่วยให้นักเรียนประสมคำอ่านและสามารถอ่านหนังสือได้ด้วยตนเองการสอนแจกลูกสะกดคำควรสอนในช่วงที่นักเรียนยังอ่านหนังสือไม่แตกฉานประมาณช่วงชั้นที่ 1 (กระทรวงศึกษาธิการ. 2561 : 39)
แบบฝึกที่ทบทวนความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่นักเรียนได้เรียนมาแล้ว ทำให้เกิดทักษะและเกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้น การฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการอ่าน การเขียน จึงควรฝึกบ่อยๆ ครูควรหาแบบฝึกอย่างเพียงพอ ใช้สื่อที่หลากหลายและจัดกิจกรรมการเรียนการสอน จะเป็นการช่วยให้นักเรียนเกิดความสนใจและเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้นักเรียนในชั้นเล็กๆ ได้เรียนรู้อย่างเพลิดเพลินและสนุกสนานจากการศึกษางานวิจัยที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเรียนการสอนในเรื่อง การอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำ พบว่า แบบฝึกทักษะเป็นสื่อการสอนที่สามารถนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนแจกลูกสะกดคำอาทิงานวิจัยของ ละมูล จันทร์แป้น(2553 : 5) ได้พัฒนาการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ และงานวิจัยของ สติ เรืองสุวรรณ (2550 : 69-74) ที่ทำการศึกษาค้นคว้า เรื่อง ผลการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านการเขียนและการใช้คำที่มีสระเปลี่ยนรูปและลดรูป กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และงานวิจัยของ อารียา พูนผล (2550 : 65-68) ที่ทำการวิจัย เรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนสะกดคำ สระลดรูป เปลี่ยนรูป วิชาภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งผลการวิจัยทั้งสามเรื่องนี้ พบว่า สอดคล้องกัน คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
จากการประเมินความสามารถในการอ่านและการเขียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์
เขต 2 ซึ่งมีรายงานผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test: RT) มีคะแนนผลการประเมินการอ่านรายด้านและประเภทของคำ อักษรควบไม่แท้มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 25 อยู่ในระดับคุณภาพพอใช้ (รายงานผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (Reading Test: RT) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. 2562 : 2) จากปัญหาดังกล่าวพบว่า นักเรียน เรียนไม่เข้าใจ อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง เกิดความเบื่อหน่ายไม่ชอบการอ่านและเขียนหนังสือ ครูผู้สอนจึงได้สร้างแบบฝึกแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน คำควบกล้ำควบคู่สื่อผสมขึ้น เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ครูผู้สอนมีความสนใจที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้เรื่อง การแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน คำควบกล้ำควบคู่สื่อผสม เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนให้ถูกต้องและเกิดความแม่นยำในการใช้ภาษาไทยเป็นพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารและถ่ายทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป
2. วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์เชิงปริมาณ
เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านแจกลูกสะกดคำและการเขียนคำควบกล้ำของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน จำนวน 13 คน ให้ถูกต้องและชัดเจน
วัตถุประสงค์เชิงคุณภาพ
เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านแจกลูกสะกดคำและการเขียนคำควบกล้ำของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน ให้มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 85
3. ขอบเขตของการดำเนินงาน
3.1 เป้าหมายของการดำเนินงาน
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน ปีการศึกษา 2563 จำนวน 13 คน
สามารถอ่านแจกลูกสะกดคำและเขียนคำควบกล้ำได้ถูกต้องและชัดเจน
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน ปีการศึกษา 2563 จำนวน 13 คน
มีทักษะการอ่านแจกลูกสะกดคำและการเขียนคำควบกล้ำมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 95
3.2 ขอบเขตของเนื้อหา
เนื้อหากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยเรื่อง คำควบกล้ำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หลักสูตร
โรงเรียนบ้านโสมน พุทธศักราช 2563 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2561
3.3 ขอบเขตของระยะเวลา
การพัฒนาแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน คำควบกล้ำควบคู่สื่อผสมครั้งนี้ ใช้เวลา
ดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 เวลาเรียน 5 วัน วันละ 2 ชั่วโมง รวมเวลา 10 ชั่วโมง
4. ประโยชน์ที่จะได้รับ
4.1 นักเรียนสามารถอ่านออกเสียงและเขียนคำควบกล้ำได้ถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น
4.2 นักเรียนมีความสนใจและตั้งใจเรียนดีขึ้น
4.3 นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน
5. กระบวนการผลิตผลงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน
นวัตกรรมแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน คำควบกล้ำควบคู่สื่อผสมได้นำทฤษฎีของ
ธอร์นไดค์ (Thorndike) ซึ่งได้กล่าวว่าการเรียนรู้คือ การที่ผู้เรียนสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองและได้รับความพึงพอใจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างดีได้ดำเนินการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตาม กฎการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ (Thorndike) ที่สำคัญ 3 กฎ คือ
1. กฎแห่งความพร้อม หมายถึง ผู้เรียนมีความพร้อมทั้งทางกายใจมีการปรับตัวเตรียมพร้อม
มีความตั้งใจความสนใจ และมีทัศนคติอันจะก่อให้เกิดการกระทำขึ้นภาวะที่สมบูรณ์คือการมีวุฒิภาวะ ผู้สอนจะสอนต้องสำรวจและศึกษาความพร้อมของผู้เรียนเตรียมผู้เรียนให้พร้อมก่อนให้การศึกษาจัดบทเรียนสนองต่อความต้องการของผู้เรียน สอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียน
จากกฎแห่งความพร้อม ผู้สอนได้เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียน นำเข้าสู่บทเรียนได้แก่
ปริศนาคำทาย เกมบิงโก
2.กฎแห่งการฝึกหัดหลักการสำคัญของการฝึกมีดังนี้
2.1 การฝึกให้กระทำซ้ำสิ่งเดียวกันในสถานการณ์ที่ต่างกันการกระทำซ้ำซากในสิ่ง
เดียวกัน เหมือน ๆ กัน จะทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อน รู้สึกขุ่นเคือง และอารมณ์เสีย ดังนั้นในการฝึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งควรจะต้องทำแบบฝึกหลาย ๆ แบบ
2.2 ระยะเวลาของการฝึกขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงาน และสำหรับการฝึกงาน
ทักษะ การฝึกที่มีการพักสลับกันไป ผู้เรียนจะได้มีเวลาวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ผลกของการฝึกก่อนที่จะลงมือฝึกต่อไป ส่วนงานที่เป็นงานสร้างสรรค์ การฝึกติดต่อกันไปโดยไม่หยุดจะมีผลดีกว่า เพราะจะทำให้ความคิดต่อเนื่องกันไป
2.3 ทุกครั้งที่ผู้เรียนตอบสนองได้ถูกต้อง จะต้องให้รางวัล หรือให้สิ่งที่ทำความพอใจแก่
ผู้เรียน การฝึกจะมีผลสมบูรณ์หากผู้กระทำนั้นรู้วัตถุประสงค์และมองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของสิ่งที่กระทำนั้นด้วย พร้อมทั้งมีความสนใจและตั้งใจอีกด้วยดังนั้นก่อนการฝึกจะต้องสร้างความอยากที่จะฝึกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกซ้ำ ๆ ฝึกหลายๆ ครั้ง หรือสามารถเรียนเกินขีด ได้โดยไม่เหนื่อยหน่าย
จากกฎแห่งการฝึกหัดผู้สอนได้ดำเนินการตามกระบวน ดังนี้
1. ศึกษาเอกสารตำราที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์หลักสูตรเนื้อหาสาระการเรียนรู้ก่อนทำการสร้างแบบฝึกและสื่อผสม ตลอดจนให้ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูในโรงเรียนเป็นที่ปรึกษาช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้แบบฝึกและสื่อผสมที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบฝึกและสื่อผสมจะเรียนกิจกรรมจากง่ายไปยาก
2. สร้างแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำควบกล้ำ พร้อมกับผลิตสื่อผสมที่หลากหลายควบคู่ไปด้วยทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ มีความกระตือรือร้นสนุกสนานกับการเรียน ทำให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำคำควบกล้ำได้ถูกต้องแม่นยำซึ่งส่งผลให้การเรียนของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. นักเรียนฝึกทักษะการอ่านและเขียนคำควบกล้ำเรียนรู้ควบคู่สื่อผสม ซ้ำๆ หลายครั้ง จากแบบฝึกทักษะการอ่านเขียนสะกดคำ ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากหนังสือเล่มเล็ก ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากวงล้อหมุน ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากโมบายพัดลม ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากแท่งศิลา ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากลูกบอล ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากต้นไม้พูดได้ ฝึกอ่านคำควบกล้ำจากตลาดนัดเสื้อผ้า ซึ่งจะให้ผู้เรียนอ่านทุกวัน จนเกิดทักษะการอ่านและการเขียน
3. กฎแห่งผลซึ่งมีหลักการดังต่อไปนี้
3.1 คนจะเรียนได้ดี ถ้าผลตอบสนองของการเรียนนั้นทำให้ผู้เรียนพอใจ และคนเราจะ
เรียนอ่อนลงถ้าผลการเรียนนั้นทำให้ผู้เรียนรำคาญใจ รางวัลและความสำเร็จจะช่วยส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมมากขึ้นและขจัดสิ่งรบกวนออกไปแต่การทำโทษและความล้มเหลวจะลดการกระทำนั้นลงถ้าจะให้เรียนรู้บางอย่าง จะต้องมีรางวัลให้เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ต้องการ
3.2 ถ้าต้องการจะให้พฤติกรรมบางอย่างหายไป เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมนั้นจะต้องมี
การทำโทษการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับผลของพฤติกรรม ถ้าแสดงพฤติกรรมแล้วนำมาซึ่งความพึงพอใจพฤติกรรมอันนั้นจะถูกเก็บไว้ แต่ถ้าทำแล้วนำมาซึ่งความไม่พึงพอใจ พฤติกรรมอันนั้นจะถูกขจัดทิ้งไป
จากกฎแห่งผล ผู้สอนได้สร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล ได้แก่ คำชมเชย ขนม อุปกรณ์การเรียนให้กับผู้ที่อ่านและเขียนคำควบกล้ำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ผู้เรียนมีความสุขและอยากเรียน
6. ผลการดำเนินงาน/ผลสัมฤทธิ์
จากการใช้แบบฝึกแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน คำควบกล้ำควบคู่สื่อผสมทำให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำได้ถูกต้องและแม่นยำขึ้น ส่งผลให้นักเรียนมีผลการเรียนที่สูงขึ้นและยังทำให้นักเรียนมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความกระตือรือร้นในการเรียน มีเจตคติที่ดีในเรื่องการอ่านการเขียน ส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านดังนี้
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน จำนวน 13 คน อ่านแจกลูกสะกดคำและเขียนคำควบกล้ำได้ทุกคน
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านโสมน อ่านแจกลูกสะกดคำและเขียนคำควบกล้ำ มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 95
7. ปัจจัยความสำเร็จ
การประสบผลสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมนั้นได้รับการสนับสนุนจากบุคคลดังนี้คือ
1. ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้รับคำแนะนำ และสนับสนุนงบประมาณจากผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ขวัญและกำลังในในการสร้างนวัตกรรม
2. คณะครูโรงเรียนบ้านโสมน ได้สนับสนุนในการช่วยผลิตสื่อผสม ให้ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ในการสอนจากครูผู้สอนวิชาเอกภาษาไทย คณะครูโรงเรียนทุกคนให้คำปรึกษาช่วยวิเคราะห์ตรวจสอบและแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในการสร้างนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านโสมน ช่วยน้องนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ผลิตสื่อผสม ช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการฝึกอ่านฝึกเขียนแจกลูกสะกดคำ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่กับน้อง
8. บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learned)
8.1 ข้อสรุปที่เป็นหลักการ ได้แก่ ในการสอนอ่านแจกลูกสะกดคำคำควบกล้ำที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จะต้อง ร-ว-ย ดังนี้
1) ร คือ ทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือในการสอนอ่าน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องสนับสนุนงบประมาณ คณะครูร่วมมือในการเตรียมความพร้อมตามระดับชั้น โดยเฉพาะครูอนุบาลจะต้องสร้างพื้นฐานที่ดี และผู้ปกครองจะต้องร่วมมือในการสอนอ่านที่บ้าน
2) ว คือ ครูผู้สอนจะต้องให้เวลานักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่อ่านและเขียนไม่คล่อง ครูจะต้องใจเย็นและให้เวลาอย่างเต็มที่
3) ย คือ ยกย่องชมเชย ให้รางวัลกับนักเรียนที่อ่านเขียนได้ มีพัฒนาการในการอ่านการเขียน ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจและประสบผลสำเร็จในการสอนอ่าน
8.2 ข้อเสนอแนะ/ข้อสังเกต ได้แก่
1) การสอนการอ่านและการเขียนสะกดคำบางครั้ง คำควบกล้ำบางคำที่ยากเกินไป
สำหรับเด็กที่เรียนช้า เรียนอ่อน ครูควรจะต้องปรับเวลาให้ฝึกอ่าน ฝึกเขียน มากกว่าปกติ และสอนอย่างช้าๆ และหากิจกรรมที่สนุกสนานเพื่อไม่ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ทำให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะเรียนมากขึ้น
2) ควรมีการฝึกทักษะการอ่านและการเขียนแจกลูกสะกดคำคำควบกล้ำนอกเวลาด้วย เช่น เวลาพักกลางวันและให้ทำเป็นการบ้าน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการอ่านและการเขียนได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
9. การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับ
จากการสร้างนวัตกรรมแจกลูกสะกดคำ ย้ำอ่าน ย้ำเขียน คำควบกล้ำควบคู่สื่อผสมและนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนการอ่านและการเขียนให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 แล้วได้นำไปเผยแพร่ในช่องทาง Internet เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของโรงเรียนและนำนวัตกรรมไปใช้ฝึกทักษะการอ่าน การเขียนกับนักเรียนที่เรียนช้า เรียนอ่อน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ของเจ้าของผลงาน
ชื่อ สกุล นางสุภาพร บุญสิงห์
วัน เดือน ปี เกิด วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2519
ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ประวัติการศึกษา พ.ศ. 2532 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านท่าศิลา
ตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
พ.ศ. 2538 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียน
ท่าตูมประชาเสริมวิทย์ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
พ.ศ. 2542 จบการศึกษาระดับครุศาสตรบัณฑิต(การประถมศึกษา)
จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
พ.ศ. 2560 จบการศึกษาระดับครุศาสตรมหาบัณฑิต
(หลักสูตรและการสอน)จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
ตำแหน่งหน้าที่การงาน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
การงานปัจจุบัน ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านโสมน
ตำบลบัวโคก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์เขต 2