ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของ
โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา
ผู้วิจัย เสรี อินทร์คง
ปีที่ทำวิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (2) พัฒนารูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา (3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา และ (4) ประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา
วิธีการวิจัยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้ (1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ โดยการสังเคราะห์เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดสงขลา จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และนำผลจากการศึกษาเอกสาร งานวิจัย และการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์เนื้อหา (2) สร้างรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา ประเมินความเหมาะสมของรูปแบบและคู่มือการใช้รูปแบบ โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบ และคู่มือการใช้รูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ระดับคุณภาพ (3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน ของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา กลุ่มประชากรประกอบด้วย นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 1,416 คน ครู จำนวน 60 คน และคณะกรรมการบริหารโรงเรียน จำนวน 9 คน ในปีการศึกษา 2562 เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบประเมินความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการบริหารโรงเรียนทีมีต่อการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ระดับคุณภาพ (4) ประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา โดยนำผลการทดลองใช้รูปแบบในขั้นตอนที่ 3 มาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ระดับคุณภาพที่กำหนด
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการสังเคราะห์เอกสารของนักวิชาการไทย และต่างประเทศ งานวิจัยต่างๆ และจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดสงขลา เกี่ยวกับแนวคิด หลักการของชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่าองค์ประกอบสำคัญของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ประกอบด้วย 1) กำหนดวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายร่วม 2) การเรียนรู้ร่วมกันและประยุกต์ใช้ความรู้ 3) การร่วมเป็นผู้นำ 4) การสืบสอบสะท้อนคิด 5) ชุมชนกัลยาณมิตร 6) โครงสร้างสนับสนุน 7) การสร้างเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และ 8) ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร จึงได้นำ 8 องค์ประกอบดังกล่าวมาพัฒนาเป็นรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา
2. รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ คือ 1) กำหนดวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายร่วม 2) การเรียนรู้ร่วมกันและประยุกต์ใช้ความรู้ 3) การร่วมเป็นผู้นำ 4) การสืบสอบสะท้อนคิด 5) ชุมชนกัลยาณมิตร 6 )โครงสร้างสนับสนุน 7) การสร้างเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และ 8) ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร และผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบ โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย 4.83 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.39
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา พบว่า
3.1 คุณภาพผู้เรียนด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของผู้เรียน และ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน หลังการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา สูงกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดตามเกณฑ์คุณภาพภายในด้านคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา 2562
3.2 ความคิดเห็นของครูที่มีต่อการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา พบว่าด้านความถูกต้องอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.90 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.32 ด้านความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.85 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.39 ด้านความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.82 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.41 สำหรับด้านความมีประโยชน์ ครูมีความคิดเห็นว่ารูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา มีประโยชน์ต่อนักเรียน ครู โรงเรียน และชุมชน ร้อยละ 100
3.3 ความคิดเห็นของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา ด้านความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.73 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.45 ด้านความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.63 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.50 ด้านความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.63 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.49 สำหรับด้านความมีประโยชน์ คณะกรรมการบริหารโรงเรียนมีความคิดเห็นว่ารูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา มีประโยชน์ต่อนักเรียน ครู โรงเรียน และชุมชน
ร้อยละ 100
4. ผลการประเมินรูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา พบว่ารูปแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียนของโรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ สงขลา จังหวัดสงขลา ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดทุกข้อ