ความเป็นมา/แนวคิด
สังคมโลกปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลข่าวสารความก้าวหน้าความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม มีผลกระทบทั่วถึงอย่างรวดเร็วบุคคลในสังคมต้องติดต่อสื่อสาร เพื่อดำเนินกิจกรรมทางสังคมหรือเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ภาษาต่างประเทศจึงกลายเป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่งสำหรับการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการศึกษาหาข้อมูล ความรู้ และถ่ายทอดวิทยาการต่าง ๆ แก่กันในด้านเศรษฐกิจ ภาษามีความจำเป็นยิ่งขึ้นในการเจรจาด้านการค้าและการประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการรู้ภาษาต่างประเทศจะช่วยสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างชนชาติไทยและชนชาติอื่น เพราะมีความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละเชื้อชาติ ทำให้สามารถปฏิบัติตนต่อกันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม มีความเข้าใจและภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมไทย สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่สังคมโลก (กรมวิชาการ, 2544 : 1)
ความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้านของสังคมในยุคปัจจุบัน เช่น ด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศึกษา โดยความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ส่งผลให้พฤติกรรมของมนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมที่แปรเปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสม เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ความสามารถในการสื่อสารและความสามารถในการใช้ภาษา เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวระบบการศึกษาจึงจำเป็นต้องสร้างคนให้มีความสามารถทางด้านต่างๆ เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ 2 พุทธศักราช 2545 มาตรา 23 ได้เน้นให้ความสำคัญทางด้านการจัดการทางภาษามีความรู้และทักษะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และมาตรา 24 ระบุว่าให้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยการฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ทำเป็น รวมทั้งให้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง (ฝ่ายวิชาการ, 2546 : 11-12)
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าการจัดการเรียนการสอนยังไม่ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายของหลักสูตร การจัดกิจกรรมที่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียนและเอื้อต่อการพัฒนาความสามารถในการสื่อสารนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยร่วม 2 ประการไปพร้อมกัน คือ ลักษณะของภาษาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันและวัตถุประสงค์ในการเรียนภาษาว่าเรียนไปเพื่ออะไร โดยในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะของภาษาที่ใช้จริงในชีวิตประจำวันและวัตถุประสงค์ของการเรียนภาษาเป็นการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เรียนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับตัวป้อนทางภาษาที่เป็นไปได้ (Logical linguistic input) และในระดับที่เพียงพอ ซึ่ง ตัวป้อนในที่นี้ คือ กิจกรรมและเนื้อหาที่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผู้สอนได้จัดให้กับผู้เรียน ในการจัดกิจกรรมและเนื้อหาที่เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่เน้นความสามารถในการสื่อสาร ควรคำนึงถึงลักษณะของภาษาที่ใช้ในชีวิตจริงและวัตถุประสงค์ในการเรียนภาษาควบคู่กันไป (สุพัตรา กองทรัพย์, 2549 : 2)
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้จัดทำหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ มุ่งหวังให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อภาษาต่างประเทศ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศสื่อสารในสถานการณ์ต่างๆ แสวงหาความรู้ประกอบอาชีพ รวมทั้งมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมอันหลากหลาย และสามารถถ่ายทอดความคิดและวัฒนธรรมไทยไปยังสังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์และมุ่งเน้นทักษะทั้งสี่ คือ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แสดงความรู้สึก ความคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างเหมาะสม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551 : 1-2)
โรงเรียนบ้านโต ซึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนตามแนวนโยบายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และตามโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551โดยกำหนดสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ทักษะหรือกระบวนการการเรียนรู้และคุณลักษณะหรือค่านิยมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนเป็น 8 กลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้เพื่อตอบสนองความสามารถความถนัดและตอบสนองศักยภาพของผู้เรียนในแต่ละคนจึงได้จัดให้มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในด้านต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นสาระเพิ่มเติมจากกิจกรรมทั้ง 8 สาระที่กล่าวมาแล้วถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่จะพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม โดยอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัยและมีคุณภาพ
จากการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันของโรงเรียนบ้านโต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ที่ผ่านมา ผู้ศึกษาค้นคว้าใช้วิธีการสอนตามคู่มือครูและบางเรื่องต้องสอนตามหนังสือเรียนโดยการอภิปรายแล้วให้นักเรียนฝึกตามหนังสือเรียน พบว่านักเรียนไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียน เมื่อให้ทำงานเป็นกลุ่มนักเรียนที่เก่งเท่านั้นเป็นผู้ทำงาน ส่วนนักเรียนที่เรียนอ่อนไม่ช่วยเพื่อนทำงาน ขาดความกระตือรือร้น เพราะเกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำได้ดีเท่าเพื่อน และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูไม่เอื้อต่อความต้องการของเด็กอ่อน นักเรียนบางคนไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้เลย นอกจากนั้นนักเรียนยังมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสามารถทางด้านการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียนให้ดีขึ้น
แนวทางในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอน มีหลายแนวทาง เช่น การสร้างสื่อนวัตกรรมการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ชุดการสอน บทเรียนสำเร็จรูป เอกสารประกอบการเรียน แต่แนวทางที่ผู้ศึกษาค้นคว้าได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมกับปัญหาและเหมาะสมกับนักเรียนที่สุด คือ การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเพราะการพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนเป็นระบบของการวางแผนการสอนที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชานั้น ๆ และยังเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนได้ (วรกิต วัดเข้าหลาม, 2540 : 60) สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สุมณฑา พรหมบุญ (2540 : 38 39) ได้กล่าวถึงประโยชน์และคุณค่าของการเรียนแบบร่วมมือ สรุปได้ดังนี้คือ การเรียนแบบร่วมมือช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นการร่วมกันเรียนภายในกลุ่มนักเรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านเพศ และระดับความสามารถทางการเรียน ภูมิหลัง นักเรียนภายในกลุ่มได้เรียนรู้พร้อมกัน แบ่งบทบาท หน้าที่ และแก้ปัญหาร่วมกัน มีการเสนอแนะ ซักถาม ค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และส่งเสริมให้ฝึกการคิดในระดับการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการที่จะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างประสิทธิภาพ ช่วยเตรียมนักเรียนให้พร้อม จะเผชิญกับชีวิตจริง เพราะลักษณะของการเรียนแบบร่วมมือ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองเช่นเดียวกับการเรียนรู้ ของกลุ่ม ได้ลงมือปฏิบัติ ทำกิจกรรมกลุ่มฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำ ผู้ตาม และได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับชีวิตจริงของนักเรียนมากที่สุด การเรียนแบบร่วมมือช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนความเป็นประชาธิปไตย ฝึกการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ฝึกการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ช่วยให้ผู้เรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียน เพื่อน ครู สถานศึกษา สังคม และประเทศชาติต่อไป สามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นานขึ้น มีความสามารถในการใช้เหตุผล รักการท างานและมีใจจดจ่ออยู่กับงาน ยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องต่างๆนักเรียนมีโอกาสฝึกทักษะทางสังคม มีหัวหน้ากลุ่ม มีผู้ช่วย มีเพื่อนร่วมกลุ่ม เป็นการเรียนรู้วิธีทำงานเป็นกลุ่ม ช่วยพัฒนาทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์มากเมื่อต้องเข้าสู่ระบบการทำงานในชีวิตจริง ส่งเสริมความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การร่วมกันเรียนภายในกลุ่ม นักเรียนทุกคนช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน ให้ความไว้วางใจกัน มุ่งมั่นให้งานของกลุ่มบรรลุเป้าหมายจนเกิดความรู้สึกว่า งานตนคืองานกลุ่ม และงานกลุ่มคืองานตน ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักตนเอง และเห็นคุณค่าของตน รวมถึงได้รู้จักผู้อื่น และเห็นคุณค่าของผู้อื่นดียิ่งขึ้น เพิ่มความเต็มใจในการให้ความร่วมมือกับผู้อื่น การให้ความสนใจในตัวผู้อื่น และการใช้เวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาทางวินัยในชั้นเรียน เนื่องจากนักเรียนทุกคนได้ฝึกฝนจนกระทั่งเกิดวินัยในตนเอง นักเรียนแต่ละคนจะได้รับการยอมรับจากครูจากเพื่อน ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ยอมรับตนเอง และผู้อื่น มีความสุขในการอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ ปัญหาทางวินัยจึงลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด นักเรียนเรียนด้วยความรู้สึกสบายใจ มีความเพลิดเพลิน บรรลุผลสำเร็จ ในการเรียนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเฉลี่ยของนักเรียนทั้งชั้นสูงขึ้น มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงขึ้น การช่วยเหลือกันในกลุ่มเพื่อน ทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เรียนได้ดียิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนเรียนได้ดีขึ้น นักเรียนที่เรียนอ่อนมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรม และประสบผลสำเร็จในการเรียน ส่วนนักเรียนที่เรียนเก่งจะมีบทบาททางสังคมในชั้นเรียนมากขึ้น มีความรู้สึกว่าตนเองมีหน้าที่ต่อเพื่อนร่วมกลุ่ม มีหน้าที่ต่อสังคมมากขึ้นมิใช่ทำงานเฉพาะของตนเท่านั้น รู้จักการเป็นผู้ให้มากขึ้น
จากเหตุผลดังกล่าว ผู้ศึกษาค้นคว้าได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของปัญหาจึงได้ดำเนินการพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง English Conversation กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2โรงเรียนบ้านโต เพื่อนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจให้ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นตามไปด้วยนอกจากนั้นยังให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่คาดหวังว่านักเรียนต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ผลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษและสามารถใช้ในการสื่อสารของนักเรียนต่อไป
2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา
ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ผู้ศึกษาค้นคว้าได้ตั้งจุดประสงค์ไว้ดังนี้
1.เพื่อสร้างและพัฒนาแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง English Conversation กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง English Conversation กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
3. เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกเสริมทักษะ เรื่อง English Conversation กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2