หัวข้อที่ศึกษา รายงานผลการให้บริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของ
ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรี
ผู้ศึกษา นางสาวฐาปณีย์ โลพันดุง
หน่วยงาน ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรี สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาผลการให้บริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรี 2) ศึกษาผลการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนพิการที่ได้รับบริการช่วงเชื่อมต่อจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรีเข้าสู่ระบบโรงเรียน 3) ศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการให้บริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรี กลุ่มเป้าหมายโดยการเลือกแบบเจาะจง ปีการศึกษา 2563 คือ ครูผู้สอนห้องเรียนเตรียมความพร้อม จำนวน 11 คน ผู้เรียนพิการที่มารับบริการแบบ ไป-กลับหมุนเวียน ในห้องเรียนเตรียมความพร้อม จำนวน 12 คน และผู้ปกครองของผู้เรียนพิการกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ 1) แบบสอบถามระดับการปฏิบัติของการให้บริการ ช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน 2) แบบบันทึกผลการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนพิการที่ได้รับบริการช่วงเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบโรงเรียน 3) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการให้บริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน และ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. การให้บริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียนมีระดับการปฏิบัติโดยภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก โดยมีการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รวม 11 ขั้นตอน ได้แก่ ระยะที่ 1 การวางแผนและเตรียมการ ประกอบด้วยขั้นตอนคือ 1) การจัดทำแผนงานบริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการและบรรจุในแผนปฏิบัติการประจำปี 2) แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานบริการช่วงเชื่อมต่อ 3) แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนการให้บริการช่วงเชื่อมต่อ ระยะที่ 2 มีขั้นตอนคือ 4) การรวบรวม ประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลผู้เรียนพิการ ครอบครัวผู้เรียนพิการและโรงเรียนใหม่ 5) เยี่ยมชมโรงเรียนใหม่เน้นด้านวิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม 6) จัดทำแผนการให้บริการช่วงเชื่อมต่อ Individual Transition Plan: ITP) 7) นำแผนการให้บริการช่วงเชื่อมต่อสู่การปฏิบัติ 8) ประสานบริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน 9) ทบทวนและปรับปรุงแผนการให้บริการช่วงเชื่อมต่อ ระยะที่ 3 การนิเทศ ติดตามและประเมินผล คือขั้นตอนที่ 10) การนิเทศ และติดตามผล 11) การประเมินและรายงานผลการดำเนินงาน และมีการดำเนินงานครบทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ
2. การพัฒนาศักยภาพผู้เรียนพิการที่ได้รับบริการช่วงเชื่อมต่อจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรีเข้าสู่ระบบโรงเรียนพบว่า ผู้เรียนจำนวน 12 คน ได้รับการจัดทำแผนการให้บริการช่วงเชื่อมต่อและการนำแผนการให้บริการช่วงเชื่อมต่อสู่การปฏิบัติ จนมีความพร้อมและสามารถเข้าสู่ระบบโรงเรียนเรียนรวมหรือโรงเรียนเฉพาะความพิการได้ทุกคน คิดเป็นร้อยละ 100 และ
3. ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการให้บริการช่วงเชื่อมต่อผู้เรียนพิการเข้าสู่ระบบโรงเรียน ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดจันทบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น การเยี่ยมชมโรงเรียนใหม่ควรมีจำนวนโรงเรียนมากขึ้น และมีความหลากหลายด้านการให้บริการและพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจของผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีความกังวลหากต้องส่งลูกพิการไปเรียนในโรงเรียนประจำที่อยู่จังหวัดอื่น เป็นต้น