นวัตกรรม สร้างสรรค์คนดี ของโรงเรียน คือ เกียรติบัตรเพื่อเด็กดี G-LES Model
นายอดิเทพ ปรีดาศักดิ์ ผู้รายงาน
โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมเกียรติบัตรเพื่อเด็กดีเพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมการมีจิตอาสา ความรับผิดชอบและความมีวินัย โดยการสังเกตของครู ในการทำกิจวัตรประจำวันของนักเรียน เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ของนักเรียน โดยครูไม่ต้องคอยสั่งการ นักเรียนรู้หน้าที่ด้วยตัวของนักเรียนเอง นักเรียนร่วมประหยัดพลังงาน และร่วมกันดูแลทรัพย์สินของโรงเรียน เป็นต้น โดยมีรูปแบบแนวคิดของนวัตกรรม G-LES Model ดังนี้
G = Goal หมายถึง การร่วมกันกำหนดเกณฑ์การรับเกียรติบัตรเพื่อเด็กดีประจำเดือน และสะสมเกียรติบัตรประจำเดือนทุกเดือน เพื่อหาผู้ที่ได้รับเกียรติบัตรมากที่สุดรับเกียรติบัตรพร้อมทุนการศึกษาเมื่อจบปีการศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน คือ จิตอาสา รับผิดชอบ และมีวินัย
LES เป็นทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ซึ่งได้จับลำดับ ที่ ๓- ๕ ของมาสโลว์
มาสร้าง Model เกียรติบัตรเพื่อเด็กดี
L = Love and belonging Needs หมายถึง ความต้องการที่จะเป็นที่รักของผู้อื่น และต้องการมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่น การสร้างความรักและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างครูกับนักเรียน โดยที่ครูต้องสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้เกิดขึ้น เช่น การชมเชยเมื่อนักเรียนทำดีในแต่วัน ให้กำลังใจ คอยให้คำปรึกษา และกระตุ้นการทำดี
E = Esteem Needs หมายถึง ความปรารถนาที่จะมองตนเองว่ามีคุณค่าสูง เป็นที่น่าเคารพยกย่องจากทั้งตนเองและผู้อื่น เมื่อนักเรียนทำความดีในแต่ละวันครูเฝ้าสังเกตพฤติกรรมตามแบบสังเกต จะมีการมอบเกียรติบัตรสำหรับนักเรียนที่มีคะแนนสูงสุดประจำเดือนในแต่ละระดับชั้น
S = Self-Actualization Needs หมายถึง กระบวนการที่จะพัฒนาตนเองเต็มที่ตามศักยภาพของตนเองเป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดจบ ตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะพัฒนาตนเองเต็มที่ตามศักยภาพ เมื่อนักเรียนได้รับเกียรติบัตรประจำเดือน ก็ต้องรักษาความดีตลอดจนได้รับเกียรติบัตรเป็นประจำและได้ จนทำให้ได้รับเกียรติบัตรและทุนการศึกษาเมื่อจบปีการศึกษา
ผลที่เกิดกับนักเรียน
นักเรียนมีการพัฒนาตนเองตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียนและการลงมือปฏิบัติโครงงานทำให้มีวินัยดี พูดจาสุภาพ ส่งงานตรงเวลา ทิ้งขยะตามที่จัดเก็บ รักษาความสะอาด ช่วยเหลืองานโรงเรียนด้วยความเต็มใจรับ ใช้อุปกรณ์การเรียนอย่างประหยัด ปิดไฟ ปิดพัดลมเมื่อไม่ใช้ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวกเพิ่มขึ้น รู้จักการทำงานเป็นทีมโดยใช้กระบวนการกลุ่ม การเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี
ผลที่เกิดกับครู
มีการพัฒนาตนเองตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียนและมีส่วนร่วมในพัฒนางาน มาทำงานและเข้าสอนตรงเวลา พูดจาสุภาพ เตรียมสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ประกอบการสอน ส่งงานที่ได้รับมอบหมายตามกำหนดช่วยเหลืองานของโรงเรียนด้วยความเต็มใจ ใช้อุปกรณ์ในการเรียนการสอนและการทำงานอย่างประหยัดตามความจาเป็นปิดไฟ ปิดพัดลม เมื่อไม่ใช้งาน ออกแบบกิจกรรมบูรณาการคุณธรรมเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอน และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน
ผลที่เกิดกับผู้บริหาร
ผู้บริหารให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม บริหารงานแบบมีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่ตรงเวลาและเต็มเวลา นิเทศการเรียนการสอนตามกำหนด ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า พูดจาสุภาพ เป็นแบบอย่างที่ดี
ผลที่เกิดกับโรงเรียน
จากกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. โดยใช้แนวคิด หลักการ รูปแบบและวิธีการที่หลากหลายให้ทุกคนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกในโรงเรียน ทำให้เกิดองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่ดี บทเรียนที่ใช้ในการพัฒนาคุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียน
ผลที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของนักเรียน
ผู้ปกครองเห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกมีการพัฒนาตนเองด้านระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบในการเรียน การทำการบ้าน มีการช่วยเหลืองานบ้าน ทำให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญและเป็นแบบอย่างที่ดีให้ความร่วมมือในการดูแลนักเรียนและกิจกรรมของโรงเรียนมากขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน
ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตระหนักและเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมให้นักเรียนเป็นเยาวชนที่ดีของสังคม เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆเป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านต่างๆ