บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์
ปีการศึกษา 2563
ผู้รายงาน นางสาวสุณัฏฐา สุขแสง
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์
หน่วยงานที่สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3
ปีการศึกษา 2563
การประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนและผลผลิตของการดำเนินการตามโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ผู้ประเมินได้ใช้วิธีการประเมินตามแนวคิดรูปแบบการประเมินแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) นำมาใช้ในการประเมินกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน (ไม่รวมตัวแทนครูและผู้บริหาร) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 14 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 25 คน โดยใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) รวมทั้งสิ้น 51 คน ของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 3 ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการประเมินครั้งนี้เป็นแบบสอบถามมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม โดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา (α-Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่น 0.92 0.95 0.93 0.96 1.00 0.94 และ 0.92 ตามลำดับ และแบบสอบถามวัดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ มีค่าความเชื่อมั่น 0.66 ผู้ประเมินวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า 1) การประเมินบริบทของการประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อ พบว่า วัตถุประสงค์ของโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงตรงตามเป้าหมายและมีความชัดเจน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ จุดประสงค์ของโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวคิดให้กับนักเรียนและบุคลากรได้อย่างแท้จริง รูปแบบการจัดกิจกรรมตามโครงการ สามารถวัดและติดตามผลได้ ส่วนโครงการวิถีชัวิตเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 2) การประเมินปัจจัยนำเข้าของการประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อ พบว่า โรงเรียนกำหนดสถานที่สำหรับใช้ปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการมีความเหมาะสมและเพียงพอมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาโรงเรียนจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์และสิ่งอำนวย ความสะดวก สำหรับการจัดกิจกรรมไว้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ส่วนครูและบุคลากรในโรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ มีสื่อและ/หรือนวัตกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับ
โครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 3) การประเมินกระบวนการของการประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 โดยภาพรวมมีอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า โรงเรียนมีการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการดำเนินการโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและโรงเรียนมีการดำเนินกิจกรรมโครงการตามแผนและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา โรงเรียนมีการกำกับ ติดตาม และการนิเทศการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังการดำเนินงานของโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและโรงเรียนการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนโรงเรียนมีการประสานความส่วนร่วมกันของทุกฝ่ายที่รับผิดชอบ และหน่วยงานภายนอกมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 4) การประเมินผลผลิตของโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 คือประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจของนักเรียนในเรื่องวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง คุณลักษณะของนักเรียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความพึงพอใจของนักเรียน ความพึงพอใจของครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีผลการประเมินดังนี้ 4.1) การวัดความรู้ของนักเรียนที่ได้ทำแบบทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจต่อการดำเนินกิจกรรมโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน ได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.71 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 83.57 แสดงว่าประสิทธิภาพในการทำแบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจต่อการดำเนินกิจกรรมโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 มีค่าเท่ากับ 83.57 4.2) คุณลักษณะตามหลักวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ มีคะแนนเฉลี่ยโดยรวมร้อยละ 94.29 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่านักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านความพอประมาณมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือด้านความมีเหตุผลและด้านเงื่อนไขความรู้ ส่วนด้านความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย 97.62 95.24 95.24 92.86 และ 90.48 ตามลำดับ 4.3) การประเมินความพึงพอใจต่อการโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า นักเรียนมีทักษะจากการปฏิบัติงานตามโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมานักเรียนปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีความสุข ส่วนนักเรียนมีโภชนาการที่ดี มีสุขพลานามัยที่แข็งแรงมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด 4.4) การประเมินความพึงพอใจต่อการโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของของครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินโครงการ ส่วนมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการอย่างสม่ำเสมอมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
สรุปผลการประเมินโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 ผ่านเกณฑ์การประเมินในทุกด้าน
ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้
จากผลโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนบ้านขุนราษฎร์ ปีการศึกษา 2563 ควรดำเนินการต่อไปโดยนำผลการประเมินไปปรับใช้และสรุปเป็นข้อเสนอแนะได้ดังนี้
1. จากผลการประเมิน ด้านบริบท พบว่าโครงการวิถีชัวิตเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น สถานศึกษาควรกำหนดนโยบายการปฏิบัติให้มีความสอดคล้องเพื่อสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นการบริหารสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. จากผลการประเมิน ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ครูและบุคลากรในโรงเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ มีสื่อและ/หรือนวัตกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น สถานศึกษาควรส่งเสริมให้บุคลากรได้มีการพัฒนาความรู้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การสร้างสื่อนวัตกรรมทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
3. จากผลการประเมิน ด้านกระบวนการ พบว่า โรงเรียนมีการประสานความส่วนร่วมกันของทุกฝ่ายที่รับผิดชอบ และหน่วยงานภายนอกมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้น สถานศึกษาควรส่งเสริมให้บุคลากรได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน องค์กรท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการร่วมดำเนินการส่งเสริมการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง
4. จากผลการประเมิน ด้านผลผลิต การประเมินความพึงพอใจในการดำเนินกิจกรรมของนักเรียนในการดำเนินการโครงการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า นักเรียนมีโภชนาการที่ดี มีสุขพลานามัยที่แข็งแรงมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนควรมีการกระตุ้นและส่งเสริมผู้ปกครอง ชุมชน ให้นักเรียนได้รับอาหารตามหลักโภชนาการที่ดี
5. จากผลการประเมิน ด้านผลผลิต การประเมินความพึงพอใจในการดำเนินกิจกรรมของครูและบุคลากร คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน พบว่าชุมชน มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการอย่างสม่ำเสมอมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ดังนั้นโรงเรียนควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น
คำสำคัญ : การประเมินโครงการ, เศรษฐกิจพอเพียง, วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง,
โรงเรียนบ้านขุนราษฎร์