ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน
โรงเรียนวัดบ้านโพธิ์ตะวันตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี
เขต 1
ผู้รายงาน นางสาวดวงฤดี แจ้งใจดี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านโพธิ์ตะวันตก
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
รายงานการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน โรงเรียน
วัดบ้านโพธิ์ตะวันตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน โรงเรียนวัดบ้านโพธิ์ตะวันตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 และประเมินความพึงพอใจในความสำเร็จของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมคุณภาพนักเรียน โรงเรียนวัดบ้านโพธิ์ตะวันตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 โดยประยุกต์ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) ใน 4 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัย (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 36 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 17 คน รวมทั้งสิ้น 76 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
1. โครงการระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน โรงเรียนวัดบ้านโพธิ์ตะวันตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 โดยภาพรวม ทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับมากและเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ปรากฏผลดังนี้
ด้านบริบทหรือสภาพแวดล้อมในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยการบริหารงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงที่สุด รองลงมาคือ การบริหารงานยึดผลประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของครู
ด้านปัจจัยเบื้องต้นในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยผู้บริหารสามารถประสานสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงที่สุด รองลงมาคือ ครูที่ปรึกษามีความตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ครูที่ปรึกษามีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้อย่างสม่ำเสมอ
ด้านกระบวนการในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนกลยุทธ์ในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และส่งเสริมศักยภาพนักเรียนโดยรอบด้าน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงที่สุด รองลงมาคือ การศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคล และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ การติดต่อประสานกันระหว่างครูที่ปรึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ด้านผลผลิตในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยนักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงที่สุด รองลงมาคือ นักเรียนมีวัสดุอุปกรณ์และสิ่งสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเพียงพอ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือนักเรียนรู้จักภัยอันตรายต่าง ๆ ที่มีในสังคม
2. การประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตนักเรียน โรงเรียนวัดบ้านโพธิ์ตะวันตก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด