เรื่อง ปัจจัยเชิงสาเหตุพหุระดับที่ส่งผลต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จังหวัดมุกดาหาร
ผู้วิจัย ฤทธิ์ติยา ธรรมสวาสดิ์
กรรมการควบคุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศน์ศิรินทร์ สว่างบุญ
ปริญญา กศ.ม. สาขาวิชา วิจัยและประเมินผลการศึกษา
มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ตรวจสอบความตรงของโมเดลปัจจัยเชิงสาเหตุ พหุระดับที่ส่งผลต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จังหวัดมุกดาหาร
2) ศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุพหุระดับที่ส่งผลต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลทั้งในระดับนักเรียนและระดับห้องเรียน และ 3) ศึกษาแนวทางการส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียน การวิจัยครั้งนี้
มี 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียน ตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ปีการศึกษา 2563 จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 1,632 คน จำนวน 10 โรง จาก 110 ห้อง ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi - stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถาม/แบบวัด จำนวน 1 ฉบับ รวม 96 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .217 ถึง .737 ค่าความเชื่อมั่น .956 และระยะที่ 2 การหาแนวทางส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียน กลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสัมภาษณ์ 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน วิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน
พหุระดับ (MCFA) และวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้างพหุระดับ (The Multilevel Structure Equation Model : MSEM)
ผลการวิจัยพบว่า
1. โมเดลเชิงสาเหตุพหุระดับปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียน
มีความตรงเชิงโครงสร้างหรือมีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์โดยพิจารณา
จากค่าดัชนีที่ใช้ตรวจสอบความตรงของโมเดล ได้แก่ 2 = 389.424, df = 196, p = .00, CFI = 0.99, TLI = 0.99, RMSEA = 0.03, SRMRw = 0.03, SRMRb = 0.11) และ 2/df = 1.99
2. ตัวแปรระดับนักเรียนที่ส่งอิทธิพลทางตรงต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ
ทางสถิติ คือ ความตระหนักในอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ แรงจูงใจในการใช้สื่อสังคมออนไลน์
การเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีค่าอิทธิพลเท่ากับ 0.35, 0.20 และ 0.14 ตามลำดับ ตัวแปรที่ส่งอิทธิพล
ทางอ้อมคือ การอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครอง มีค่าอิทธิพลเท่ากับ 0.30 ส่วนตัวแปรระดับห้องเรียน
ที่ส่งผลต่อความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ บรรยากาศในชั้นเรียน
มีค่าอิทธิพลเท่ากับ 0.87 ทั้งนี้ชุดของตัวแปรทำนายระดับนักเรียนและระดับห้องเรียนสามารถอธิบาย
ความแปรปรวนในความเป็นพลเมืองดิจิทัลได้ร้อยละ 62.30 และ 48.80
3. แนวทางการส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลของนักเรียนพบว่า ความตระหนัก
ในอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลสูงสุดมีแนวทางส่งเสริมคือ ผู้ปกครอง ครู และผู้ที่มี
ส่วนเกี่ยวข้องควรร่วมมือกันสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับนักเรียนโดยการแนะนำให้รู้ถึงผลกระทบ
ทั้งทางบวกและทางลบของเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้ปกครองต้องคอยแนะนำ ดูแล
เอาใจใส่และติดตามการใช้เทคโนโลยีของนักเรียนอยู่เสมอ ด้านการจัดการศึกษาควรจัดกิจกรรม
ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักเรียนมีความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีและคงทน