รูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการกระบวนการเรียนรู้กลุ่มยุวเกษตรกรแบบมีส่วนร่วมกรณีศึกษา : โรงเรียนบ้านไทรงาม สถานศึกษาขนาดเล็ก เป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการจัดกระบวนการเรียนรู้กลุ่มยุวเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม ศึกษาข้อจำกัดปัญหา อุปสรรคของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ศึกษาแนวทางในการพัฒนายุวเกษตรกรในโรงเรียน ผลการศึกษาสรุปได้ว่าการดำเนินงานยุวเกษตรกรในโรงเรียนจะให้ประสบผลสำเร็จนั้น โรงเรียนบ้านไทรงาม และภาคีที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ตั้งแต่ต้น คือ เริ่มตั้งแต่ การรวมคน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสรุปบทเรียน และร่วมรับผลจากการกระทำ โดยมีการ บูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการสนับสนุนในเรื่องการให้ความรู้ และปัจจัยการผลิต กระบวนการดำเนินงานยุวเกษตรกรถ้าโรงเรียนสามารถดึงชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการถ่ายทอดความรู้ จากผู้รู้ ผู้นำชุมชน ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน หรือปราชญ์ชาวบ้าน การทำงานร่วมกันของเด็ก ครูที่ปรึกษา ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ก็จะเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ทักษะความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียน เด็ก ๆ จะมีแนวคิดใหม่ ๆ มีประสบการณ์ และสามารถที่จะนำกลับมาใช้ที่บ้าน ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะทำให้เด็กๆ ค่อยซึมซับความรักในอาชีพเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เด็กๆ หันกลับมาทำการเกษตรต่อจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต่อไปในอนาคต จำเป็นที่จะต้องให้ชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เด็กได้รู้จักกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม มีภาวะผู้นำกล้าแสดงความคิดเห็น และได้รับประสบการณ์ตรงจากการที่ได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้รู้ในชุมชนทั้งทางทฤษฎี และปฏิบัติ เด็ก ๆ มีความภาคภูมิใจที่ได้มีอาหารเข้าโครงการอาหารกลางวันจากฝึกมือการดำเนินงานของตนเอง และยังมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรอีกด้วย
การมีส่วนร่วมของกลุ่มยุวเกษตรกรสรุปได้ดังนี้
1) การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา และสาเหตุของปัญหาโดยการพูดคุย แลกเปลี่ยน ซักถามกับครู และกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียน
2) การมีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงาน โดยกลุ่มยุวเกษตรกรได้วางแผนในการดำเนินการภายในกลุ่ม ได้ทำปฏิทินการปฏิบัติงาน และปฏิทินการผลิตพืช
3) การมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม การสร้างความร่วมมือโดยการให้กลุ่มยุวเกษตรกร
ทำตามแผนที่ได้ตั้งไว้
4) การมีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ การได้รับผลประโยชน์ทางตรงคือการได้ผลผลิตเพื่อเข้าโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยได้รับงบประมาณจากภาคีต่างๆ ผลประโยชน์ทางอ้อม คือกลุ่มยุวเกษตรกรเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่ม การทำงานเป็นทีม เกิดความร่วมมือกันสามัคคี กล้าตัดสินใจฝึกทักษะ ประสบการณ์ และกล้าแสดงความคิดเห็น
5) การมีส่วนร่วมในการประเมินผลกิจกรรมที่กลุ่มยุวเกษตรกรได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ด้วยกลุ่มยุวเกษตรกรเอง และครูที่ปรึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนว่าได้ความรู้อะไรจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยวิธีการสนทนากลุ่มย่อย
ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดของการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ กลุ่มยุวเกษตรกรมีหลายชั้นเรียนเวลาในการทำกิจกรรมของกลุ่มไม่ตรงกัน บ้างครั้งมีทะเลาะกัน การเรียนวิชาการหนัก สมาชิกกลุ่มไม่ค่อยเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน ผู้ปกครองไม่สนับสนุน งบประมาณที่มาสนับสนุนถูกใช้ไปหลายทาง
แนวทางในการพัฒนา คือ ให้รุ่นพี่ประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแกนนำพาน้อง ๆ ทำ ให้มีการสืบสานกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกร ฝึกให้กลุ่มยุวเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตที่ทำ และให้ฝึกทำบัญชี เพิ่มวิชาเกษตรให้เด็กมีเวลาลงมาทำการเกษตร ต้องฝึกให้ปฏิบัติจริงและนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน การปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับชุมชนและวิถีชีวิตของชุมชน การประชุมผู้ปกครองให้เข้าใจถึงกระบวนการเรียนการสอนและให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน ให้ครูที่ปรึกษา คณะกรรมการกลุ่มยุวเกษตรกร และสมาชิกศึกษาบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ชัดเจน