ชื่อเรื่อง การพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย ชลอ เมืองทอง
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 2) สร้างกลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ 3) ประเมินกลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) โดยการศึกษาเอกสาร การจัดเวทีสาธารณะเสวนาระดมความคิด สำรวจความคิดเห็น การสนทนากลุ่ม การรับฟังสาธารณะ (Public Hearing) และการประเมินกลยุทธ์ ประชากร ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและบุคลากร นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2563 จำนวน 654 คน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียน ในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว พบว่า
1) ผลการวิเคราะห์แนวโน้มและผลกระทบในอนาคต ความท้าทายเชิงกลยุทธ์ โดยกระบวนการ Scenario Analysis ด้วย S-T-E-E-P Approach โดยการจัดเวทีสาธารณะเสวนาระดมความคิด (Brain Storming) มีข้อเสนอการพัฒนา (1) ดำเนินการประกาศเจตนารมณ์ (Mission Statement) ให้ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาเป็น ศูนย์ปฏิบัติการแห่งนวัตกรรมสร้างโอกาส โดยเป็นฐานปฏิบัติการเรียนรู้แบบเผชิญสถานการณ์จริงมุ่ง...สร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งโอกาส เสริมสร้างอัตลักษณ์ เชิงอนาคตที่โดดเด่น มีภาวะผู้นำ มีทักษะอาชีพ เก่งดิจิทัล มีจิตสาธารณะ" โดยการบูรณาการทักษะชีวิต ทักษะวิชาการ และทักษะอาชีพ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ (2) ให้ขยายฐานกลุ่มผู้รับบริการภายนอกทั้งผู้ปกครอง ประชากรวัยเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานภายนอก มีการจัดบริการในลักษณะฐานปฏิบัติการเรียนรู้สหศาสตร์บูรณาการเรียนรู้แบบองค์รวม (Integrative Holistic Learning) ให้มีการจัดฐานเรียนรู้ปฏิบัติการบ่มเพาะอาชีพและการจัดการเรียนรู้โดยองค์รวม มีการจัดฐานเรียนรู้กีฬากอล์ฟโดยสร้างสนามกอล์ฟที่กลมกลืนกับระบบนิเวศวิทยาเพื่อเป็นฐานเรียนรู้แบบสหศาสตร์และการสร้างอาชีพจากกีฬากอล์ฟ พร้อมการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนและต่อยอดขยายผลการให้บริการสาธารณะ (Public Service Agreement : PSA) ต่อชุมชนสาธารณะด้านนวัตกรรมองค์ความรู้และการฝึกปฏิบัติการ มีการจัดฐานเรียนรู้สร้างทุนมนุษย์ (Human Capital Development Center) เพื่อบริการฝึกอัตลักษณ์เด็ก เยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการจัดฐานเรียนรู้เสริมสร้างอัตลักษณ์ครูนวัตกร โดยการเสนอขออนุมัติหลักสูตรอบรมจากสถาบันคุรุพัฒนาและ ก.ค.ศ.
2) ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสำรวจความต้องการพัฒนา กลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา พบว่า อัตลักษณ์ที่มีความต้องการพัฒนาต่อผู้เรียนตามลำดับ คือ ทักษะชีวิต รองลงมาคือ ทักษะอาชีพ ทักษะจิตสาธารณะ ทักษะภาวะผู้นำ ทักษะดิจิทัล และแนวทางในการพัฒนาเรียงตามลำดับ คือ สร้างฐานเรียนรู้ปฏิบัติการบ่มเพาะอาชีพและการจัดการเรียนรู้โดยองค์รวม ฐานเรียนรู้สร้างทุนมนุษย์ (Human Capital Development Center) ฐานเรียนรู้เสริมสร้างอัตลักษณ์ครูนวัตกรแห่งอนาคต ฐานการเรียนรู้ศูนย์ศาสตร์พระราชา ฐานเรียนรู้ทักษะชีวิต และฐานเรียนรู้สหศาสตร์และอาชีพบนฐานกีฬากอล์ฟ
2. ผลการสร้างกลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว โดยกระบวนการวางแผนเชิงอนาคต (The Future of Strategic Planning Process) พบว่า
1) การพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1) สถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มความท้าทายในอนาคต 2) ทิศทางการพัฒนากลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา 3) กลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา 9 กลยุทธ์ และ 4) ปัจจัยแห่งความสำเร็จและกลไกการบริหารแผน
2) ผลการรับฟังสาธารณะ (Public Hearing) ร่างกลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยภาพรวม มีผู้ที่เห็นด้วย ร้อยละ 92.79 และผู้ที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 7.21
3. ผลการประเมินกลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว พบว่าผลการประเมินกลยุทธ์เสริมสร้างอัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ภาพรวมมีความถูกต้อง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.58, S.D. = 0.14)
คำสำคัญ : กลยุทธ์, อัตลักษณ์ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21, ศาสตร์พระราชา, ปัจจัยความสำเร็จ