ชื่อเรื่อง รายงานผลการดำเนินงานพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนบ้านเขวา (รัฐประชาวิทยากร) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
มหาสารคาม เขต 1
ชื่อผู้ศึกษา พิรุณ แก้วนะรา
ชื่อหน่วยงาน โรงเรียนบ้านเขวา (รัฐประชาวิทยากร)
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้าน
อยู่อย่างพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใน 8 ด้าน ได้แก่
ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล
ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ 2) ศึกษาคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียนจากกิจกรรมพัฒนาภายใต้กรอบ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และการเปรียบเทียบผลคะแนนการทดสอบระหว่างก่อนและหลังการพัฒนาและ3) ศึกษาความพึงพอใจต่อกิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ครูผู้สอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 ผู้ปกครองนักเรียน(สัดส่วน:1:1) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมจำนวน 103 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสังเกต ประเมินแบบสัมภาษณ์ และแบบทดสอบ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา(Descriptive Statistics) หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย(Mean)และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษาพบว่า
1.การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใน 8 ด้าน ได้แก่ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากซึ่งสะท้อนผลของการพัฒนาได้อย่างชัดเจน คือ ด้านผลกระทบ ปัญหาของนักเรียนสอดคล้องกับความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพด้านอยู่อย่างพอเพียง เพื่อให้เกิดคุณลักษณะที่ดี การใช้ทรัพยากรตามการพัฒนาได้อย่างคุ้มค่า ด้านประสิทธิผล นักเรียนเมื่อเข้ารับการพัฒนาด้านคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงไม่เอาเปรียบผู้อื่นและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สามารถปรับตัวและมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ด้านความยั่งยืน นักเรียนสามารถขยายความรู้ และทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ
2. คุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียนในกิจกรรมพัฒนาภายใต้กรอบ 3 ห่วง คือ
ด้านความพอประมาณ ด้านความมีเหตุมีผล ด้านภูมิคุ้มกันที่ดี 2 เงื่อนไขคือ เงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม มีระดับปฏิบัติการโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุดและมีคะแนนหลังการพัฒนาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรวมร้อยละ 10.66
3. ความพึงพอใจต่อกิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อค้นพบจากการศึกษา
จากการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียงสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านเขวา (รัฐประชาวิทยากร) พบว่านักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดีขึ้น นักเรียนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยที่นักเรียนเป็นผู้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีความประหยัดมัธยัสถ์ อดออมเพิ่มมากขึ้น ผู้ปกครองนักเรียนชุมชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ครู ผู้ปกครองนักเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านอยู่อย่างพอเพียง มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างแท้จริง