งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยในชั้นเรียนในการเรียนรู้รายวิชาวิทยาการคำนวณของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ของนักเรียนโรงเรียน อบจ.บ้านจองคำ ปีการศึกษา 2564 ช่วงต้นภาคเรียนที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ตรงต่อเวลาในการปฏิบัติกิจกรรม/ส่งชิ้นงานต่าง ๆ ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบต่อการเรียน ไม่มีความตั้งใจและเอาใจใส่ในการเรียน ไม่มีความเพียรพยายามเรียนรู้ ขาดการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ไม่มีการบันทึกและวิเคราะห์องค์ความรู้ ไม่มีความสนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนกับเพื่อนหรือครู ไม่มีความตั้งใจและพยายามในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ผ่านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ข้อที่ 3 (มีวินัย รับผิดชอบ) ข้อที่ 4 (ใฝ่เรียนรู้) และข้อที่ 6 (มุ่งมั่นในการทำงาน) ในรายวิชาวิทยาการคำนวณ
จากกรณีดังกล่าว มีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 9 คน จาก จำนวนทั้งหมด 10 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ของนักเรียนทั้งหมด ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความสนใจ และไม่มีความเพียรพยายามเรียนรู้ ในรายวิชาวิทยาการคำนวณ ทางครูผู้สอนรายวิชาวิทยาการคำนวณ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จึงได้คิดหาวิธีการ และสืบค้นหาความรู้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทางครูผู้สอนครูผู้สอนรายวิชาวิทยาการคำนวณ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จึงได้ใช้นวัตกรรมจิตศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านใน ประกอบด้วย จิต และการคิดผ่านการฝึกปฏิบัติจากกิจกรรมที่หลากหลาย จนเกิดกระบวนการใคร่ครวญด้วยจิตที่มีเมตตา กรุณา ทำให้จิตใจเปิดกว้าง สามารถทำให้เข้าใจกับสิ่งต่าง ๆ จนเกิดคุณลักษณะความตระหนักรู้ในตนเอง ความเมตตา กรุณา และจิตสาธารณะ สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้กับการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันได้ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความตั้งใจและเอาใจใส่ในการเรียน มีความเพียรพยายามเรียนรู้ มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ให้ความสำคัญในการบันทึกและวิเคราะห์องค์ความรู้ มีความสนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนกับเพื่อนหรือครู มีความตั้งใจและพยายามในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ในการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 1 โดยได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ครูรวบรวมแผนจิตศึกษาที่จะใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ปีการศึกษา 2564
2. ครูจัดกิจกรรมจิตศึกษาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ปีการศึกษา ๒๕๖4 ในช่วงเวลา 08.30 น. 09.00 น. โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาที ก่อนการเริ่มเรียนในชั่วโมงแรก โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียม (ใช้เวลาประมาณ 5 นาที) ขั้นกิจกรรม (ใช้เวลาประมาณ 15 นาที) และขั้นจบ (ใช้เวลาประมาณ 5 นาที)
จากการใช้นวัตกรรมจิตศึกษา กับกลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ปีการศึกษา 2564 ในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 จำนวน 10 คน มีผลการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ข้อที่ 3 (มีวินัย รับผิดชอบ) ข้อที่ 4 (ใฝ่เรียนรู้) และข้อที่ 6 (มุ่งมั่นในการทำงาน) ในการเรียนรู้รายวิชาวิทยาการคำนวณ ดังนี้
ข้อที่ 3 (มีวินัย รับผิดชอบ) มีผลการประเมิน ดังนี้
- มีนักเรียนที่มีผลการประเมินในระดับ ดี จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
- มีนักเรียนที่มีผลการประเมินในระดับ ผ่าน จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
ข้อที่ 4 (ใฝ่เรียนรู้) มีผลการประเมิน ดังนี้
- มีนักเรียนที่มีผลการประเมินในระดับ ดี จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
ข้อที่ 6 (มุ่งมั่นในการทำงาน) มีผลการประเมิน ดังนี้
- มีนักเรียนที่มีผลการประเมินในระดับ ดี จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
- มีนักเรียนที่มีผลการประเมินในระดับ ผ่าน จำนวน 9 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด
นวัตกรรมจิตศึกษาส่งผลให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ห้อง 3 ปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 1 มีความตั้งใจและเอาใจใส่ในการเรียน มีความเพียรพยายามเรียนรู้ มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ให้ความสำคัญในการบันทึกและวิเคราะห์องค์ความรู้ มีความสนใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เรียนกับเพื่อนหรือครู มีความตั้งใจและพยายามในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ในการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการคำนวณเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นภาคเรียน และส่งผลให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าว สามารถพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ประสบปัญหาในรายวิชาวิทยาการคำนวณ ในข้อที่ 4 (ใฝ่เรียนรู้) ได้มากเป็นอันดับแรก ลำดับต่อมาคือ ข้อที่ 3 (มีวินัย รับผิดชอบ) และข้อที่ 6 (มุ่งมั่นในการทำงาน) ซึ่งมีค่าการพัฒนาที่เท่ากัน