แบบรายงานประวัติและผลงานเพื่อพิจารณาคัดเลือกวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
การนำหลักสูตรสถานศึกษาสู่การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ประสบผลสำเร็จ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2
กลุ่มสาระการเรียนรู้ : วิทยาศาสตร์
ชื่อผลงาน : การจัดการเรียนรู้โดยใช้วัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแผนผังมโนทัศน์
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเมืองเกษตรวิสัย
ความสำคัญของผลงาน นวัตกรรมหรือวิธีปฏิบัติที่นำเสนอ
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ของกลุ่มสาระการเรียนนรู้วิทยาศาสตร์มีความมุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เน้นการเชื่อมโยงความรู้กับกระบวนการ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ โดยใช้กระบวนการในการสืบเสาะหาความรู้ และการแก้ปัญหาที่หลากหลาย ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน มีการทำกิจกรรมด้วยการลงมือปฏิบัติจริงอย่างหลากหลาย เหมาะสมกับระดับชั้น (กระทรวงศึกษาธิการ. 2560 : 3) และตามที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) สนับสนุนให้มี การพัฒนาวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ครูต้องให้ความสำคัญในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
รายงานผลการประเมินตนเอง (Self Assessment Report : SAR) ของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2560 ผู้เรียนมีระดับผลการเรียนเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดเป็นร้อยละ 69.98 ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้คือ ร้อยละ 70 ดังนั้นในฐานะครูผู้สอนรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมุ่งส่งเสริม พัฒนาผู้เรียนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เกิดการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแผนผังมโนทัศน์ ซึ่งทุกกระบวนการเรียนการสอนจะยึดหลักการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
จุดประสงค์ เป้าหมายและขอบเขตของการดำเนินงาน
1. จุดประสงค์
1.1 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีการศึกษา 2561 ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 ให้สูงกว่าค่าเป้าหมายที่ทางโรงเรียนกำหนด เกณฑ์ร้อยละ 70
1.2 เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) รายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สูงกว่าระดับชาติ
ขอบเขตของการดำเนินงาน
1. กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเมืองเกษตรวิสัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 53 คน ปีการศึกษา 2562 จำนวน 64 คน และปีการศึกษา 2563 จำนวน 57 คน
2. เนื้อหาที่ใช้การศึกษา
เนื้อหาที่ใช้การศึกษาเป็นเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ว16101) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรโรงเรียนเมืองเกษตรวิสัย พุทธศักราช 2561
ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลการศึกษา
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รายวิชาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ปีการศึกษา 2561-2563 สูงกว่าค่าเป้าหมายที่ทางโรงเรียนกำหนด
2. ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ค่าสถิติสำหรับโรงเรียนมีคะแนนเฉลี่ยรายวิชาวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกปีการศึกษา เมื่อพิจารณาเป็นรายปีการศึกษา พบว่า ปีการศึกษา 2561 คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ เท่ากับ +2.39 ปีการศึกษา 2562 มีคะแนนเฉลี่ยรายวิชาวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ เท่ากับ +8.08 และในปีการศึกษา 2563 มีคะแนนเฉลี่ยรายวิชาวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ เท่ากับ +6.88