ชื่อเรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนบ้านแม่จว้า
อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา
ผู้ศึกษา นางสาวยิ่งพร เจียตระกูล
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จว้า
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 1
ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านแม่จว้า ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนบ้านแม่จว้า ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการต่อการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านแม่จว้า และเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน ตามหลัก สุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียน บ้านแม่จว้า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้มาโดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 98 คน ประกอบด้วย ครูผู้สอนโรงเรียนบ้านแม่จว้า จำนวน 8 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนบ้านแม่จว้า ปีการศึกษา 2563 จำนวน 23 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 60 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) มี 3 ชุด คือ แบบประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านแม่จว้า แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านแม่จว้า และแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพตามหลัก สุขบัญญัติแห่งชาติของนักเรียน ก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียน บ้านแม่จว้า ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นเอง โดยอาศัยกรอบแนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย
สรุปผลการศึกษาได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านแม่จว้า อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยใช้การประเมินรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ของสตัฟเฟิลบีม ตามประเด็นการประเมิน 4 ด้าน โดยภาพรวม มีความเหมาะสม อยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรายด้าน พบว่า ด้านผลผลิต มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาเป็นด้านกระบวนการ ถัดมาเป็นด้านบริบท โดยด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
1.1 ด้านบริบท (Context) โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาตามรายการประเมิน พบว่ารายการที่มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพมุ่งส่งเสริมและพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียน ตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ รองลงมา วัตถุประสงค์ของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและครู และโรงเรียนมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดโครงการส่งเสริมสุขภาพเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพกายสุขภาพจิตแก่นักเรียนและครู ตามลำดับ
1.2 ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจน นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีผลการดำเนินงานมากที่สุด รองลงมา โรงเรียนมีการประชุม หารือ วางแผนการทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ โดยกำหนดระยะเวลาชัดเจน เหมาะสม และทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และ โรงเรียนได้รับความร่วมมือในการดำเนินโครงการจากนักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ตามลำดับ
1.3 ด้านกระบวนการ (Process) โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า มีการพัฒนาสุขศึกษาในโรงเรียนและส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ มีผลการดำเนินงานมากที่สุด รองลงมา มีการส่งเสริมสุขภาพจิตและเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การต่อต้านยาเสพติด การเยี่ยมบ้าน การแนะแนวให้คำปรึกษา และการอบรมคัดกรอง และมีการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ของสถานศึกษา ตามลำดับ
1.4 ด้านผลผลิต (Product) โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็น รายข้อ พบว่า มีนักเรียนที่มีปัญหาภาวะโภชนาการ ได้รับการแก้ไขพัฒนา มีผลการดำเนินงาน มากที่สุด รองลงมา โรงเรียนมีสถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เพียงพอ และมีชุมชนให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการ ตามลำดับ
2. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียน บ้านแม่จว้า ตำบลแม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พบว่า ความพึงพอใจโดยภาพรวม อยู่ในระดับ มากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า นักเรียนได้รับอาหารตามสัดส่วนธงโภชนาการ มีโภชนาการและอาหารที่ปลอดภัย มีระดับความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมา คือ มีการส่งเสริมการออกกำลังกาย กีฬา และนันทนาการ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และมีโครงการร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ
3. ผลพฤติกรรมสุขภาพตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ของนักเรียนก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพโรงเรียนบ้านแม่จว้า เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ทุกข้อแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าทุกข้อมีคะแนนหลังเข้าร่วมโครงการ สูงกว่าคะแนนก่อนเข้าร่วมโครงการ