บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน โรงเรียนบางแพ
ปฐมพิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี
ผู้วิจัย นางสาวเกศสุดา เนรมิตธนไพศาล
หน่วย โรงเรียนบางแพปฐมพิทยา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี
ปี 2563
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย (1) เพื่อศึกษาสภาพและแนวทางการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี (2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี (3) เพื่อยืนยันรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี และ (4) เพื่อติดตามผลการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี
การวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ขั้นตอนที่ 2 สร้างรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ขั้นตอนที่ 3 ยืนยันรูปแบบโดยตรวจสอบความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ ความเหมาะสม และความถูกต้องครอบคลุม ขั้นตอนที่ 4 ศึกษาผลลัพธ์ความสำเร็จจากการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง แบบสอบถามชนิดประมาณค่า 5 ระดับ และแบบสังเกตชนิดตรวจสอบรายการ ใช้กลุ่มตัวอย่างจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงเรียนบางแพปฐมพิทยา จำนวน 437 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพและแนวทางการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงลำดับค่าแฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ดังนี้ มุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน มีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ กระจายอำนาจและมอบอำนาจในการตัดสินใจ มีส่วนร่วมในการวางแผน และบรรยากาศการมีส่วนร่วม
2. รูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย (1) หลักการและเหตุผล (2) วัตถุประสงค์ (3) สาระสำคัญ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมในการวางแผน การกระจายอำนาจและมอบอำนาจในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ บรรยากาศการมีส่วนร่วม และ การมุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน (4) แนวทางการนำรูปแบบไปสู่การปฏิบัติ และ (5) เงื่อนไขการนำรูปแบบสู่ความสำเร็จ
3. ผลการยืนยันรูปแบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน โดยผู้เชี่ยวชาญ/ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยภาพรวมพบว่า มีความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ ความเหมาะสมและความถูกต้องครอบคลุม
4. ผลการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน โดยรวม พบว่า ทักษะชีวิตนักเรียน สามารถพัฒนาได้ ร้อยละ 63.99 เมื่อพิจารณารายด้าน องค์ประกอบที่ 4 การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น สามารถพัฒนาได้สูงที่สุด ร้อยละ 71.28 รองลงมา ได้แก่ องค์ประกอบที่ 3 การจัดการกับอารมณ์และความเครียด ร้อยละ 69.61 องค์ประกอบที่ 2 การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ร้อยละ 64.63 และองค์ประกอบที่ 1 การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น ร้อยละ 44.37