ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับ
การเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์
ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นางสาวสุภาสินี มีอาหาร
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลตำบลป่าตาล(ป่าตาลราษฎร์นุกูล)
ปีที่ศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อศึกษาความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD 3) เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 33 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนเทศบาลตำบลป่าตาล (ป่าตาลราษฎร์นุกูล) เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ รูปแบบการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่า EDPPE Model มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน เนื้อหารสาระความรู้ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน ซึ่งมีกระบวนการเรียนการสอน 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย คือ 1) ขั้นการกระตุ้นเตรียมความพร้อม (Encouragement : E) 2) ขั้นการอภิปราย (Discussion : D)
3) ขั้นการนำเสนอเนื้อหา (Presentation : P) 4. ขั้นฝึกทักษะ (Practice: P) และ 5) ขั้นประเมินผล (Evaluation : E) ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนย่อย คือ 5.1) การทดสอบย่อย (Quizzes) 5.2) คะแนนพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคน (Individual Improvement Scores) 5.3) การรับรองผลงานของกลุ่ม (Team Recognition) ผลการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ได้ค่าดัชนีความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 0.71 -100 ซึ่งมีความสอดคล้อง และผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 76.58/77.02 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 75/75 ปรากฏว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งยอมรับสมมติฐานข้อที่ 1
2. ความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากการใช้รูปแบบการเรียนการสอน EDPPE โดยรวมอยู่ในระดับดี
3. ผลการเรียนรู้ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียน
การสอนตามแนวคิดคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีผลการเรียนรู้หลังเรียน สูงกว่าก่อนเรียน
4. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ร่วมกับการเรียนแบบร่วมมือเทคนิค STAD เพื่อส่งเสริมความสามารถการคิดวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง เศษส่วน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเฉพาะด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ปัญหา การวางแผน และวิธีการแก้ปัญหา และด้านบรรยากาศในการเรียนรู้ นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหาและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้