ชื่องานวิจัย รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนา
ทั้งระบบ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา
ชื่อผู้วิจัย นายเกียรติ ปะหุสี
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะตามแนวทางการพัฒนาทั้งระบบ : โรงเรียนเนินสง่าวิทยา โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 505 คน ได้แก่ ผู้ประสานงานโครงการ จำนวน 1 คน ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 3 คน ครูผู้สอน จำนวน 32 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 225 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 225 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 10 คน และชุมชน จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 3 ฉบับ สำหรับผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน สำหรับนักเรียน และสำหรับผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์สำหรับผู้ประสานงานโครงการ เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความคิดเห็น และการวิเคราะห์เนื้อหา สำหรับการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ และแบบสัมภาษณ์
ผลการวิจัย พบว่า
1) ผลการประเมินบริบท โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการมีวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ชัดเจน เหมาะสม
2) ผลการประเมินปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก วิทยากร แพธทูเฮลท์ เอาใจใส่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมตามโครงการ
3) ผลการประเมินกระบวนการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด มีเป้าหมายและกระบวนการทำงานเรื่องโควิด 19 ทั้งระบบโรงเรียน นักเรียนได้เรียนรู้การป้องกันโรคโควิด 19 อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งในและนอกห้องเรียนทุกคน ทุกระดับชั้น และมีการบริหารจัดการ การวางแผน การติดตาม การประเมินผลกิจกรรมของโครงการอย่างเป็นระบบและชัดเจน
4) ผลการประเมินผลผลิต โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผู้เรียนเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข สภาพแวดล้อมเป็นสุข
5) ผลการประเมินผลกระทบ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนมีเครือข่ายร่วมพัฒนาระหว่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วยกัน โรงเรียนได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในการจัดการศึกษา และ นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการโรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะของโรงเรียน
6) ผลการประเมินประสิทธิผล โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โครงการสามารถพัฒนา ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และผู้ปกครอง ด้านความรู้ ด้านการปฏิบัติตน ในการป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคโควิด 19
7) ผลการประเมินความยั่งยืน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนพร้อมให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการเพื่อนำไปสู่โรงเรียนสร้างเสริมสุขภาวะอื่นๆ
8) ผลการประเมินการถ่ายโยงความรู้ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาวะสามารถเป็นแบบอย่างขยายผลให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้