ชื่องานวิจัย รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนา
ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา
ชื่อผู้วิจัย นายเกียรติ ปะหุสี
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา 2) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการบริหาร การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา รูปแบบที่ใช้ในการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยคือครูผู้สอน จำนวน 4 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/2, 4/2, 5/2, 6/3 โรงเรียนเนินสง่าวิทยา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 89 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบบทดสอบการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบบประเมินการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน และแบบประเมินทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1) ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา พบว่า ผล การวิเคราะห์เอกสารได้ระบุการจัดเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในแต่ละขั้นตอนของโครงงาน นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความสนใจของนักเรียนและช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนได้ และจากการให้ข้อมูลเชิงคุณภาพของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร ครูผู้สอน พบว่า การจัด การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดทักษะอาชีพและชีวิต ทักษะสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี และทักษะสร้างสรรค์และนวัตกรรม
2) ผลการสร้างและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา มีชื่อว่า KIAT Model โดยมีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการ ประกอบด้วย 4 ขั้นคือ 3.1) ความรู้ (Knowledge : K) 3.2) การนำไปใช้ (Implement : I) เป็นขั้นการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (PBL) 3.3) แนะนำ นิเทศ (Advice : A ) และ 3.4) ทดสอบ ประเมินผล (Test : T) 4) ปัจจัยสนับสนุน และ 5) การวัดและประเมินผล ประกอบด้วย 5.1) ผลที่เกิดกับครูที่จัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ 5.2) ทักษะ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะอาชีพและชีวิต ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยพบว่า รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ
3) ผลการใช้รูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา (KIAT Model) พบว่า 3.1) ครูผู้สอนมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานอยู่ในระดับดี และเห็นว่ารูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนมีความเหมาะสม 3.2) นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สูงขึ้น
4) ผลการประเมินรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่21 ของนักเรียนโรงเรียนเนินสง่าวิทยา (KIAT Model) ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีคุณภาพ