ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออก เขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย ยุวรี แก้วคำไสย์
ปีที่วิจัย 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 2) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และ 3) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย การวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ คือ ขั้นที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบ ขั้นที่ 3 การนำรูปแบบไปใช้ และขั้นที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านสิริขุนหาญ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัด การเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดทักษะการอ่านออกเขียนได้และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ การทดสอบค่าที (t - test) ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการพัฒนารูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการจัดการเรียนรู้ และ การวัดผลและประเมินผล มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นนำเข้าสู่การอ่าน (Pre-Reading) ขั้นที่ 2 ขั้นระหว่างการอ่าน (While-Reading) ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกอ่านเขียน (Practice Reading and Writing) และขั้นที่ 4 ขั้นประเมินผล (Evaluation) จากการประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.55
2. ผลการนำรูปแบบไปใช้ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีคะแนนทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาการอ่านออกเขียนได้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และมีทักษะการอ่านออกเขียนได้ในระดับดีมาก (x̄=30.57)
3. ผลการประเมินการใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย อยู่ในระดับพึงพอใจมาก (x̄= 2.60, S.D. = 0.51) และผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อพฤติกรรมการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนหลังการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ P-W-P-E เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่านออกเขียนได้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในระดับมากที่สุด (x̄= 4.56, S.D. = 0.50)