ชื่อเรื่อง : การประเมินโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของ
โรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563
ผู้ศึกษา : นายมนัส เจื้อยแจ้ว
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา
สุโขทัย เขต 2
ปีการศึกษา : 2563
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ
ปีการศึกษา2563 เป็นการวิจัยเชิงประเมิน ผู้ประเมินเลือกใช้รูปแบบการประเมินตามแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม มีจุดมุ่งหมายของการประเมินโครงการ ดังนี้
1. เพื่อประเมินบริบทของโครงการ (Context Evaluation)
2. เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการ (Input Evaluation)
3. เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินโครงการ (Process Evaluation)
4. เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการ (Product Evaluation)
การประเมินครั้งนี้ ใช้ประชากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.4 - ป.6 จำนวน 42 คน และนักเรียนชั้น ป.4 - ป.6 จำนวน 42 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลในครั้งนี้ ใช้แบบประเมินเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 5 ฉบับ
สถิติที่ใช้ในวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (Arithmatic Mean) ของประชากร และหาค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ของประชากร แล้วนำผลของการคำนวณมาแปลความหมายตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ผลการประเมินโครงการพบว่า
1. ผลการประเมินบริบทของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน บ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียน
3.1 ผลการประเมินการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียนด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน พบว่า อยู่ในระดับมาก
จุดเด่นของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน คือ การพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนทำให้บรรยากาศ น่าอยู่ น่าเรียน สะอาด ร่มรื่นและเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โรงเรียนได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จุดด้อยของโครงการ พบว่า มีข้อจำกัดในเรื่องระยะเวลาในการพัฒนาสภาพแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
3.2 ผลการประเมินการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ตามความคิดเห็นของครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียนด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน พบว่า อยู่ในระดับมาก
จุดเด่นของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน คือ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงและเรียนรู้จากของจริงด้วยตนเองช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนสื่อการเรียนรู้และอุปกรณ์การสอน ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวัน จุดด้อย คือ แหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษาไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้เรียน ไม่มีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้บริการ ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยจัดแหล่งเรียนรู้ให้เพียงพอและหลากหลายกับผู้เรียนโดยขอความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน จัดหาสื่อ เทคโนโลยีมาให้บริการและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
4. ผลการประเมินผลผลิตของโครงการ
4.1 ด้านสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
4.1.1 ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ของครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียน
ด้านสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
4.1.2 ผลการประเมินผลผลิตของโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ของครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียน
ด้านแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ภาพรวมอยู่ในระดับมาก
4.2 ผลการประเมินผลผลิตของโครงการของครูผู้สอน ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนเกี่ยวกับความพึงพอใจที่มีต่อโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยทุกด้าน ผ่านเกณฑ์การประเมิน
สรุป จากการประเมินโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน
บ้านท่าวิเศษ ปีการศึกษา 2563 โดยใช้รูปแบบการประเมินตามแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) ของแดเนียล แอล สตัฟเฟิลบีม ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) ทุกด้านผ่านเกณฑ์การประเมิน ดังนั้น การประเมินโครงการในครั้งนี้จึงบรรลุตามจุดมุ่งหมายของโครงการที่ตั้งไว้