การใช้แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย นางสุภาภรณ์ จันทร์กลม
รายวิชา ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รหัสวิชา ท23101ปีการศึกษา 2564
การศึกษาครั้งนี้เป็นแบบ
วัตถุประสงค์เพื่อ
1. เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียน แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ
1. ประชาชน
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 564 คน
2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/ 9 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จำนวน 31 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ
1. แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 5 เล่ม
2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียน - หลังเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 30 ข้อ
3. แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึก ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 22 ข้อ
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. หาประสิทธิภาพของแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการอ่านคิดวิเคราะห์เพลง นิทาน ข่าว บทความและบทร้อยกรอง ก่อนเรียนกับหลังเรียนของกลุ่มตัวอย่าง
3. หาค่าความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
สรุปผลการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้พบว่า
1. แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 86.52/84.40 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80
2. นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้คือมีค่าตั้งแต่ 0.50 ขึ้นไป
3. นักเรียนที่เรียนด้วยแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีค่าความพึงพอใจที่มีต่อแบบฝึกอยู่ในระดับมากที่สุด
อภิปรายผล
ในการทดลองหาประสิทธิภาพของแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยขอเสนอการอภิปรายผลไว้ 3 ประการคือ
1. แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.52/84.40 แสดงให้เห็นว่าแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์กำหนด 80/80 ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เนื่องจากการใช้แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เน้นการจัดกิจกรรมการฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ตามลำดับขั้นตอน 5 ขั้นตอนคือหาความหมายคำศัพท์ แผนผังความคิด(การอ่านตามรูปแบบ 5W1H) แยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น บอกประโยชน์และตอบคำถามจากเนื้อเรื่อง มีการเรียงเนื้อหาตามลำดับขั้นเรียงลำดับจากเรื่องยากไปหาเรื่องง่าย เนื้อหามีหลายรูปแบบ การจัดทำรูปเล่มเร้าความสนใจของผู้เรียน นักเรียนได้ทำกิจกรรมซ้ำ ๆบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ มีความมั่นใจในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การใช้กระบวนการกลุ่มช่วยให้การเรียนรู้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เป็นการช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาความสามารถการอ่านคิดวิเคราะห์ การแยกข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น เข้าใจเนื้อหา แนวคิด คำศัพท์ จุดประสงค์ของผู้เขียนที่ต้องการสื่อ มีทักษะการทำกิจกรรมระหว่างเรียน เช่น การอ่าน การคิดวิเคราะห์ การแยกข้อเท็จจริงข้อคิดเห็น การสรุปความได้สมเหตุสมผล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การนำเสนอผลงานและมีมารยาทในการอ่าน ในการวัดผลประเมินผลระหว่างเรียน หลังเรียน ทำให้พบว่านักเรียนทุกคนมีพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ได้ในระดับดีเป็นที่พอใจ สอดคล้องกับเอี่ยมศรี ถือทอง วิจัยเรื่อง ผลการใช้แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ประโยค เพื่อพัฒนาการจำแนกประโยค ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผลของการวิจัยพบว่า แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ประโยค เพื่อพัฒนาการจำแนกประโยคของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ81.24/80.00 สุภัทรา ทะบันแดน วิจัยเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการคิดวิเคราะห์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้แบบฝึกทักษะพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ผลของการวิจัยพบว่า แบบฝึกทักษะพัฒนาการคิดวิเคราะห์มีประสิทธิภาพ 86.07/83.04 เพลินพิศ พรรณขาม วิจัยเรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ด้วยกระบวนการกลุ่มแบบร่วมมือ โดยใช้แบบฝึกทักษะ ผลการวิจัยพบว่าแบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพ 83.52/81.00 นูรัยนา หรีมโต๊ะสัน วิจัยเรื่องการพัฒนาชุดฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ ชุด อ่านมากได้ประโยชน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผลการวิจัยพบว่า ชุดฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ ชุด อ่านมากได้ประโยชน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 83.60/84.31 และแบบฝึกมีประสิทธิภาพเนื่องมาจาก
1.1 แบบฝึกที่สร้างขึ้นผ่านกระบวนการขั้นตอนการสร้างอย่างเป็นระบบและวิธีการที่เหมาะสมคือศึกษาหลักสูตร คู่มือครู เทคนิค วิธีการ ทฤษฎี ความรู้การอ่านคิดวิเคราะห์และการอ่านคิดวิเคราะห์แบบ 5W1H เป็นแนวทาง โดยคำนึงถึงเนื้อหา จุดประสงค์การเรียนรู้ สื่อและกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับสุวิทย์ มูลคำและสุนันทา สุนทรประเสริฐ(2550:65) กล่าวถึงขั้นตอนการสร้างแบบฝึกว่า ทำการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ศึกษาหลักสูตร พิจารณาทางเลือก ศึกษารูปแบบแบบฝึกชนิดต่าง ๆ ความหลากหลายแบบฝึก สร้าง ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ทดลองใช้ ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพก่อนจะใช้จริง
1.2 แบบฝึกที่สร้างขึ้นได้นำเพลง นิทาน ข่าว บทความและบทร้อยกรองมาจัดสร้างสื่อการจัดการเรียนรู้และได้คำนึงลักษณะของแบบฝึกที่ดี คือ การใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ หลากหลายรูปแบบ เรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เร้าความสนใจ ตรงกับจุดประสงค์ เนื้อหาเหมาะสมตามความต้องการของผู้เรียนและคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลสอดคล้องกับฐานิยา อมรพลัง (2548:78)กล่าวว่าแบบฝึกที่ดีเป็นแบบฝึกที่เรียงจากง่ายไปหายาก มีรูปภาพประกอบ มีรูปแบบน่าสนใจ หลากหลายรูปแบบ โดยอาศัยหลักจิตวิทยาในการจัดกิจกรรมหรือจัดแบบฝึกให้สนุก ใช้ภาษาได้เหมาะสมกับวัยและระดับชั้นของผู้เรียน มีคำสั่ง คำชี้แจงสั้นชัดเจนเข้าใจง่าย มีตัวอย่างประกอบ มีกิจกรรมการฝึกที่เร้าความสนใจและแบบฝึกนั้นควรทันสมัยอยู่เสมอ
1.3 แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนจะนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ได้ทดลองใช้กับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องการใช้ภาษา รูปแบบ เวลา ความยากง่ายและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกให้แน่ใจว่าแบบฝึกฉบับนี้มีประสิทธิภาพจริงสามารถนำไปใช้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างได้อย่างมีคุณภาพและตรงตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ รัศมี ประทุมมา(2550:บทคัดย่อ) วิจัยเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้แบบฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์แก่นักเรียนและก่อนนำมาใช้ ได้นำไปทดลองหาประสิทธิภาพกับนักเรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างแบบหนึ่งต่อหนึ่ง จำนวน 3 คน แบบกลุ่มย่อย จำนวน 9 คน นำมาปรับปรุงแก้ไขได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์
1.4 แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่สร้างขึ้นได้นำไปใช้ควบคู่กับแผนการจัดการเรียนรู้การอ่านคิดวิเคราะห์ที่กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติกิจกรรมจริงด้วยตนเองเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในหมู่คณะ ได้ผ่านการประเมินตรวจสอบคุณภาพและความสอดคล้องจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งด้านเนื้อหา กระบวนการ กิจกรรม สื่อและนำเอาข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญมาปรับปรุงแก้ไข ทั้งด้านการใช้ภาษา รูปแบบ รูปภาพ ขั้นตอนการจัดกิจกรรมเพื่อให้ได้แบบฝึกที่ดีมีประสิทธิภาพใช้ในการพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ครั้งนี้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ แสดงว่านักเรียนที่ได้รับการสอนและใช้แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้นักเรียนมีความสามารถพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์สูงขึ้น สอดคล้อง ทัศนียา คำนวล วิจัยเรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความหมายเรื่อง
คำราชาศัพท์ โดยใช้แบบฝึกหัดเสริมทักษะ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่ามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ลดาวัลย์ มะเดื่อ วิจัยเรื่อง การพัฒนาชุดกิจกรรมฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์วิชาภาษาไทยพื้นฐาน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนสิริวัณวรี 2 สงขลา ผลการวิจัยพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กอแก้ว สวัสดี วิจัยเรื่อง การพัฒนาการอ่านคิดวิเคราะห์ โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 6 ผลการวิจัยพบว่า มีคะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สุนิตา จุลวิชิต วิจัยเรื่องการใช้แบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์วิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 3 ผลการวิจัยพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 วิภา มุ่งนากลาง วิจัยเรื่อง การพัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เน้นการคิดวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคคำถาม 5W1H เรื่องอิศรญาณภาษิต กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ชวนพิศ คชริน วิจัยเรื่อง
การพัฒนาชุดการสอนแบบ 5W1H ในการส่งเสริมการอ่านคิดวิเคราะห์รายวิชาภาษาไทยของนักเรียนระดับประถมศึกษา ผลการวิจัยพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผลของการประเมินความพึงพอใจพบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนต่อแบบฝึกอยู่ในระดับมากที่สุดเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เหตุผลที่ทำให้นักเรียนมีความพึงพอใจระดับมากที่สุดคือ แบบฝึกมีลำดับขั้นตอนเร้าความสนใจ มีคำชี้แจงชัดเจนเข้าใจง่าย รูปเล่มน่าสนใจ ความยากง่ายเหมาะสม เนื้อหามีความหลากหลาย นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน นักเรียนมีความสุข ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีนิสัยรักการอ่าน รูปแบบขั้นตอนแบบฝึกช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และนักเรียนพอใจกับการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติกิจกรรมทุกครั้ง สอดคล้องกับ พรทิพย์ มโนเลิศ วิจัยเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะเรื่อง การอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ผลการวิจัยพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ดวงมณี จันทร์สว่าง และคณะ วิจัยเรื่อง การพัฒนาความสามารถในการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียนภาษาไทย โดยใช้หนังสือนิทาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนดรุณศึกษา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลการวิจัยพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจระดับมากที่สุด อุบล ไกรษร วิจัยเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์โดยใช้บทเพลง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผลการวิจัยพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดและจินตนา จินตวร วิจัยเรื่อง การที่พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่1 โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคผังมโนภาพ ผลการวิจัยพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคผังมโนภาพในระดับมากที่สุด
 
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้
1.1 ควรให้มีการสร้างแบบฝึกทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ทุกระดับเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ให้กับนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
1.2 พัฒนาปรับปรุง รูปเล่มและเนื้อหาของแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้เหมาะสมทันสมัย มีความหลากหลายและเร้าความสนใจของผู้เรียน
1.3 ควรเตรียมแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไว้ล่วงหน้าอย่างดี เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาก่อนนำไปใช้กับนักเรียน
1.4 ใช้แบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่ขาดเรียนและมีพัฒนาทางการเรียนช้า 1.5 เปรียบเทียบผลการจัดการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กับวิธีการเรียนรู้การอ่านคิดวิเคราะห์ด้วยวิธีการอื่น
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัย
2.1 ควรมีการวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและกลุ่มสาระอื่น ๆทุกระดับชั้นเรียน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้สู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างต่อเนื่อง
2.2 ควรมีการวิจัยการพัฒนาทักษะการอ่านคิดวิเคราะห์ด้วยด้วยรูปแบบการเรียนรู้วิธีการอื่น
เพื่อจะได้มีแนวทางเลือกที่หลากหลายในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน
2.3 ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้ครบทุกสาระ เพื่อจะได้ปรับปรุง พัฒนาพร้อมกันทุกด้านและแก้ไขปัญหาได้ตรงกับสภาพที่แท้จริง