บทคัดย่อ
หัวข้อวิจัย การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชา เคมี 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้เทคนิคการแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยเกม (TGT) ผ่านเกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ
ผู้วิจัย นางสาววิภาวดี บุดดา
สถาบัน โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร
ปีการศึกษา 2563
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชา เคมี 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้เทคนิคการแข่งขันระหว่างกลุ่ม ด้วยเกม (TGT) ผ่านเกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ (2) หาประสิทธิภาพของเกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ รายวิชา เคมี 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (3) ศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
กลุ่มเป้าหมายในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 25 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
นวัตกรรมที่ใช้ในการวิจัยเป็น เกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ รายวิชา เคมี 1 ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ส่วน คือส่วนที่ 1 แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ส่วนที่ 2 กิจกรรมเติมความรู้เรื่อง ธาตุและสารประกอบ ส่วนที่ 3 กิจกรรมทบทวนความรู้ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ ส่วนที่ 4 กิจกรรมเกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ และส่วนที่ 5 กิจกรรม ฝึกทักษะทบทวนความรู้ เรื่องธาตุและสารประกอบ
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
เรื่อง ธาตุและสารประกอบ รายวิชา เคมี 1 และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่าตามแบบของ Likert จำนวน 15 ข้อ
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปวิเคราะห์ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานประกอบไปด้วย การหาประสิทธิภาพ E1/ E2 เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสองกลุ่มไม่อิสระจากกันโดยใช้สถิติวิลคอกซัน 2 กลุ่มสัมพันธ์กัน (The Wilcoxon Signed Ranks Test) และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยกับเกณฑ์
จากการศึกษาผลการใช้เกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ รายวิชา เคมี 1 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ผลการวิจัย ดังนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังจากที่เรียนด้วยเกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบของนักเรียนมีค่ามัธยฐานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. เกมฝึกทักษะ เรื่องธาตุและสารประกอบ มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ซึ่งผลการทดลองครั้งนี้ พบว่าประสิทธิภาพของเกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ มีค่าเท่ากับ 83.65/ 89.20 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่เรียนโดยใช้เกมฝึกทักษะ เรื่อง ธาตุและสารประกอบ รายวิชาเคมี 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 อยู่ในระดับมากที่สุด ซึ่งผลการทดลองนี้พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด จำนวน 10 ข้อ และระดับมาก 5 ข้อ โดยข้อที่นักเรียนมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ เกมฝึกทักษะมีกิจกรรมที่หลากหลาย (µ = 4.84) และ ข้อที่มีความพึงพอใจต่ำสุด คือ เกมฝึกทักษะ สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่เรียน (µ = 4.24)