เรื่อง รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน
โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา
ผู้วิจัย นายวีระศักดิ์ คำแก้ว
ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา
ปีที่พิมพ์ 2564
บทคัดย่อ
การวิจัยรูปแบบการพัฒนาครูเพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา ครั้งนี้ ผู้วิจัยดำเนินการพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้ 1) ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2) เพื่อการออกแบบและพัฒนารูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา และ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ
4 ขั้นตอน มีรายละเอียด ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research : R1) เป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis) ดำเนินการดังนี้ ขั้นที่ 1 ศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฏี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 ศึกษาพฤติกรรมจิตสาธารณะของนักเรียน จากผู้ปกครองนักเรียน และครูผู้สอน ขั้นที่ 3 ศึกษาปัญหาและความต้องการจำเป็นในการเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียนจากครูผู้สอน ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development : D1) เป็นการออกแบบและพัฒนารูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา ดำเนินการดังนี้ ขั้นที่ 1 การสร้างโครงร่างรูปแบบการพัฒนาครู ขั้นที่ 2 การตรวจสอบโครงร่างรูปแบบการพัฒนาครู ขั้นที่ 3 การปรับปรุงโครงร่างรูปแบบการพัฒนาครู ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย (Research : R2) เป็นการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนา (Development : D2) เป็นการประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา ดำเนินการ ดังนี้ 4.1 ประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู ตามมาตรฐานการใช้ประโยชน์ มาตรฐานความเป็นไปได้ มาตรฐานความเหมาะสม และมาตรฐานความถูกต้องตามแนวทางของมาตรฐานการประเมินโครงการ ของคณะกรรมการร่วมพัฒนามาตรฐานการประเมินทางการศึกษา (Joint Committee on Standards for Educational Evaluation, 1994) และ 4.2สอบถามความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา แหล่งข้อมูล ได้แก่ ครูผู้สอนในปีการศึกษา 2563 จำนวน 18 คน ศึกษากับประชากรทั้งหมด ผู้ปกครองนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 241 คน ศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 148 คน ได้มาจากการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตาราง Krejcie. และ Morgan และใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 6 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 256 คน ศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 154 คน ได้มาจากการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตาราง Krejcie. และ Morgan และใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบวิเคราะห์เอกสาร วรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ฉบับที่ 2 สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมจิตสาธารณะของนักเรียนต่อครอบครัว ฉบับที่ 3 สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมจิตสาธารณะของนักเรียนต่อโรงเรียน ฉบับที่ 4 สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมจิตสาธารณะของนักเรียนต่อสังคม ฉบับที่ 5 แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นในการเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน ฉบับที่ 6 แบบตรวจสอบความสมเหตุสมผล ฉบับที่ 7 วัดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสริมสร้าง จิตสาธารณะสำหรับนักเรียน (สำหรับครู) มีค่าความเชื่อมั่น 0.92 ฉบับที่ 8 สอบถามความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ตามรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิรยะวิยา (สำหรับครู) มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.93 ฉบับที่ 9 สอบถามเพื่อวัดพฤติกรรมจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา (สำหรับนักเรียน)
มีค่าความเชื่อมั่น = 0.93 ฉบับที่ 10 แบบประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู ฉบับที่ 11 แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สรุปผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (Analysis)
1.1 ผลการศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า รูปแบบที่
เหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาครูเป็นรูปแบบตามแนวคิดของคีฟ (Keeves, 1988 : 560) เป็นรูปแบบเชิงภาษา (Semantic Model) ใช้ภาษาในการอธิบายแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของรูปแบบ อธิบายถึงกระบวนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้ให้การพัฒนากับผู้รับการพัฒนาในการสนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แนะเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการพัฒนาหรือปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครูให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลกับผู้เรียน
1.2 ผลการศึกษาสภาพปัญหาด้านจิตสาธารณะของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีพฤติกรรมจิตสาธารณะต่อครอบครัว ต่อโรงเรียน และต่อสังคม เฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง
1.3 ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นในการพัฒนาครู พบว่า ครูผู้สอนประสบปัญหาด้านการเสริมสร้างจิตสาธารณะของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และครูผู้สอนมีความต้องการจำเป็นในการเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน เฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการออกแบบและพัฒนารูปแบบ การพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา มีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) โครงสร้างเนื้อหา 4) กระบวนการพัฒนาครู 5) การประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบ และ 6) ปัจจัยความสำเร็จ กระบวนการพัฒนาครู มีชื่อเรียกว่า WEERA Model ประกอบด้วยกระบวนการ 5 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นศึกษาความต้องการ (W = Want) 2) ขั้นการอบรม (E = Educate) 3) ขั้นดำเนินการปฏิบัติ ( E = Execute) 4) ขั้น
การประเมินผล (R = Rate) และ 5) ขั้นประยุกต์นำไปใช้ (A = Application)
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู ที่สร้างขึ้น พบว่าครูที่เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน มีคะแนนเฉลี่ย หลังการอบรมเท่ากับ 28.22 คิดเป็นร้อยละ 94.07 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการอบรมเท่ากับ 16.89 คิดเป็นร้อยละ 56.30 ซึ่งผู้เข้าอบรม มีคะแนนการพัฒนาร้อยละ 37.78 ครูมีความคิดเห็นมีต่อโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยรวมเฉลี่ย อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย= 4.44 , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.32) นักเรียนมีพฤติกรรมจิตสาธารณะ โดยรวมเฉลี่ย อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.28, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.23)
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างจิตสาธารณะสำหรับนักเรียน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา
4.1 ผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู พบว่า ประสิทธิภาพตามมาตรฐานการประเมิน ด้านการใช้ประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านความถูกต้อง โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.46 , ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.31)
4.2 ผลการสอบถามความพึงพอใจของครูผู้สอนที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาครู พบว่า ครูมีความพึงพอใจ โดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.41, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.58)