ความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา
คณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญที่มีบทบาทต่อการพัฒนาบุคคลเพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์มีความสำคัญต่อมนุษย์ในการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่นๆ ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของกลุ่มสาระคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนามนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล มีระบบระเบียบ มีแบบแผนสามารถวิเคราะห์ปัญหาคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจแก้ปัญหาได้ถูกต้องเหมาะสมและเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ตลอดจนศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา,2553,หน้า2)
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์จัดได้ว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ แต่ผลการประเมินคุณภาพของนักเรียนพบว่าได้ผลยังไม่น่าพอใจนั่นก็แสดงว่าการเรียนการสอนเท่าที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็วเท่าที่ควร คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ยังอยู่ในระดับต่ำและมีนักเรียนไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์เป็นจำนวนมาก คณิตศาสตร์เป็นการเรียนรู้ที่เป็นนามธรรม และใช้สัญลักษณ์มากมายเข้าใจยากน่าเบื่อ และเป็นวิชาที่ต้องทำแบบฝึกหัดมากกว่าวิชาอื่น ดังกฎฝึกหัดของธอร์นไดค์(ทิศนา แขมมณี,2557,หน้า51) ซึ่งกล่าวได้ว่าการฝึกหัดหรือทำบ่อยๆ ด้วยความเข้าใจจะทำให้การเรียนรู้นั้นคงทนถาวร ถ้าไม่ได้กระทำซ้ำบ่อยๆ การเรียนรู้นั้นไม่คงทนถาวร ดังนั้นทักษะทาง คณิตศาสตร์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีแบบฝึกหัดให้ผู้เรียนได้ทบทวน ได้ฝึกฝนในสิ่งที่เรียนรู้มาและฝึกฝนการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเคยชินต่อการแก้ปัญหาตามจุดประสงค์ที่หลักสูตรตั้งไว้ จากสภาพปัญหาและแนวคิดดังกล่าวผู้วิจัยสนใจที่พัฒนากิจกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง อสมการอสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยใช้แบบฝึกทักษะเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ปรับปรุง 2560) ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้นได้ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของของโรงเรียนต่อไป
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐานเรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะ
2. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง อสมการอสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว
แนวคิด ทฤษฎี หลักการ เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผู้วิจัยศึกษางานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง อสมการอสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ความหมายของแบบฝึกทักษะ ไพบูลย์ มูลดี. (2546, หน้า 48) ให้ความหมายของแบบฝึกทักษะว่า แบบฝึกเป็นชุดการเรียนรู้ที่ครูจัดทำขึ้น ให้ผู้เรียนได้ทบทวนเนื้อหาที่เรียนรู้มาแล้วเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจจะช่วยเพิ่มทักษะความชำนาญ และช่วยฝึกทักษะการคิดให้มากขึ้น ทั้งยังมีประโยชน์ในการลดภาระครู ผู้เรียนทำให้เรียนมองเห็นความก้าวหน้าจากผลการเรียนรู้ของตนเองได้
บุญชม ศรีสะอาด (2543,หน้า 23) ได้กล่าวไว้ว่า สื่อที่แตกต่างกัน อาจช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ต่างกัน และสื่อชนิดเดียวกันถ้าจัดทำแตกต่างกัน ก็อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ต่างกัน และสื่อชนิดเดียวกันถ้าจัดทำแตกต่างกัน ก็อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในจุดประสงค์ และเนื้อหาสาระอย่างเดียวได้ไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องพัฒนาและเลือกสื่อที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์นั้น เพื่อทราบว่าสื่อการสอนมีคุณภาพและมีคุณค่าหรือไม่ระดับใด
นฤชล ศรีมหาพรหม(2549,หน้า 34) ได้กล่าวไว้ว่า ความสำคัญของการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการผลิตแบบฝึกทักษะ ทำให้ทราบว่าแบบฝึกทักษะนั้นมีคุณภาพมากเพียงใด มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร ช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของการสอนได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป
วิธีดำเนินการ
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จำนวน 2 ห้องเรียน (ม3/8, ม.3/10 )จำนวนนักเรียนทั้งหมด 95 คน
กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/8 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โดยสุ่มอย่างง่าย จำนวนนักเรียน 48 คน
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
1. ทำการทดสอบก่อนเรียนด้วยแบบทกสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
2. ดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอนในแผนการจัดการเรียนรู้ และใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน
3. ทำการทดสอบหลังเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นแบบทดสอบชุดเดียวกับก่อนเรียนแต่สลับข้อ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย/นวัตกรรม
1. แผนการจัดการเรียนรู้สำหรับใช้กับชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว โดยใช้แบบฝึกทักษะ
2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก
การวิเคราะห์ข้อมูล/สถิติที่ใช้ในการวิจัย
การวิเคราะห์ข้อมูล
วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยใช้สูตร t-test-Dependent
สถิติที่ใช้ในการวิจัย
1. การหาค่าเฉลี่ย (Mean)
2. ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
3. เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยของแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน จากค่าแจกแจง t แบบ Dependent
ผลการวิจัย
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยการใช้แบบฝึกทักษะ เรื่อง อสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะ
1. การจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะ ควรใช้แบบฝึกจากง่ายไปหายาก และนักเรียนสามารถทราบผลทันที เพื่อทราบความก้าวหน้าของตนเอง
2. ควรมีการสร้างแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ในระดับชั้นอื่นๆ
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. เป็นแนวทางในการสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะ วิชาคณิตศาสตร์เรื่องอื่น สำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อไป
2. เป็นแนวทางสำหรับครูคณิตศาสตร์ในการสร้างและพัฒนาแบบฝึกทักษะ ในระดับชั้นอื่นๆต่อไป