โลกปัจจุบันนี้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้คนเราสามารถติดต่อสื่อสารกันทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารกันนั้นจำเป็นต้องมีภาษาเป็นสื่อกลางเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวเดียวกัน นอกจากจะใช้ภาษาในกลุ่มเดียวกันแล้ว คนเรายังต้องติดต่อสื่อสารหรือแสดงความเข้าใจกับคนภายนอกกลุ่มอีกด้วย ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล (International Language) ที่มีผู้นิยมใช้กันมากในการติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลก ภาษาอังกฤษจึงมีบทบาทสำคัญต่อชนชาติต่างๆและคนไทยอย่างมากในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการศึกษา ดังนั้นผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และแสวงหาความรู้ในด้านต่างๆ
การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศในปัจจุบันเป็นแนวการสอนเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างและการพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้านขึ้นในตัวผู้เรียนได้แก่ ทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนเพื่อประโยชน์ในการสื่อสาร ซึ่งในการเรียนการสอนนั้นความรู้เรื่องเรื่องคำศัพท์มีความสัมพันธ์กับทักษะทั้ง 4 ด้าน และการที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นนั้นนักเรียนที่รู้ศัพท์มาก จำได้แม่น สามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้อง ย่อมเรียนได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ วาริณี ศรีสมพงษ์ (2517 : 39) เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเข้าใจไวยากรณ์และคำศัพท์กับความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่พบว่านักเรียนที่ได้คะแนนคำศัพท์สูง จะได้คะแนนการอ่านสูงด้วย และสอดคล้องกับ เสาวลักษณ์ รัตนวิช์ (2531 : 84) ที่กล่าวว่าในการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศ สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคำศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้คำศัพท์ยังมีความสำคัญและความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการฟัง การพูดและการเขียนด้วย ในด้านของการฟังและการพูด ถ้านักเรียนไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์ ฟังไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ ใช้คำผิดความหมาย ทำให้การสื่อสารไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนทางด้านการเขียนนั้นนักเรียนจะเขียนสะกดคำไม่ถูก และเขียนไม่ได้ใจความชัดเจน กล่าวคือ ถ้านักเรียนไม่มีความแม่นยำหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์แล้ว นักเรียนจะเรียนภาษาให้ได้ดีทั้งการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนได้ยาก
ความรู้เรื่องคำศัพท์จึงเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนภาษา ดังที่ดวงเดือน แสงชัย (2539 : 118) กล่าวว่า ถ้านักเรียนคนใดมีพัฒนาการทางภาษาดีมาตั้งแต่เด็ก คือ รู้ศัพท์มากพอเหมาะกับวัยของตน สามารถนำคำศัพท์ไปใช้อย่างถูกต้อง นักเรียนคนนั้นจะเข้าใจความคิดของคนอื่นและสิ่งแวดล้อมจนสามารถสื่อความหมาย หรือแสดงความต้องการของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับ วรรณพร ศิลาขาว (2538 : 21) ที่กล่าวว่า การสอนคำศัพท์มีความจำเป็นมากในการเรียนรู้ภาษา เพราะคำศัพท์จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียน ทั้งนี้เป็นเพราะคำศัพท์เป็นหน่วยหนึ่งในโครงสร้างของภาษาที่เป็นพื้นฐานของการเรียนภาษาที่ผู้เรียนจะนำมาสร้างเป็นวลี หรือประโยคในการพูดหรือเขียน และการฟังหรืออ่านนั้น คำศัพท์จะเป็นส่วนประกอบของข้อความที่สื่อสาร
อย่างไรก็ตามการสอนคำศัพท์ในประเทศไทยนั้นยังได้รับความสนใจน้อย และการละเลยในด้านการสอนคำศัพท์ ได้ก่อนให้เกิดปัญหาแก่นักเรียนไทยในการเรียนการสอนภาษาหลายด้าน ซึ่งสมุทร เซ็นเชาวนิช (2540 : 19) ได้กล่าวถึงปัญหาอันเนื่องมาจากคำศัพท์ว่า อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของนักศึกษาไทยเวลาอ่านภาษาอังกฤษ คือ อ่านแล้วไม่เข้าใจเรื่องราว ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากแปลความหมายของคำศัพท์ไม่ได้หรือไม่เข้าใจความหมายของคำศัพท์ในข้อความนั้น ในด้านการเขียนนั้น วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ (2530: 39) ได้กล่าวว่าปัญหาที่นักเรียนไทยไม่สามารถเขียนเรื่องได้ถูกต้องนั้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากไม่มีพื้นฐานที่สำคัญของการเขียน คือ ไม่รู้คำศัพท์ การสะกดคำ และโครงสร้างทางไวยากรณ์ ซึ่งกล่าวได้ว่าคำศัพท์เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญในการเรียนภาษา ถ้านักเรียนมีความรู้ในเรื่องคำศัพท์ไม่มากพอ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเขียนได้
จากปัญหาดังกล่าวได้มีผู้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการสอนคำศัพท์เพื่อคิดค้นหาวิธีการและเสนอแนวทางและวิธีสอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงในการสอนคำศัพท์เอาไว้ เช่น ประนอม สุรัสวลี (2539 : 32) ได้ให้ความคิดเห็นว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนั้น ครูผู้สอนน่าจะทำให้การเรียนสนุกสนาน เพราะภาษาเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตจริง กิจกรรมทางภาษาจึงควรเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหว เป็นเรื่องราวของการมีส่วนร่วมและสมมติสถานการณ์ ครูจึงควรใช้กิจกรรมเพื่อชักจูงให้เด็กเรียนอย่างสนุกสนานพร้อมๆไปกับการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การนำภาษาไปใช้ได้อย่างได้ผลนั่นคือ การใช้กิจกรรมเกม เพราะเกมทำให้นักเรียนได้เรียนอย่างสนุกสนาน นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ครูจัดขึ้นเป็นการช่วยเสริมการเรียนรู้ในเรื่องของคำศัพท์ได้เป็นอย่างดี
จากประสบการณ์ของผู้วิจัยที่สอนภาษาอังกฤษในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่าเมื่อผู้วิจัยใช้เกมภาษาเข้ามาแทรกบทเรียนในคาบ นักเรียนจะกระตือรือร้นให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมและเรียนด้วยความสนุกสนานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่ สุมาลี กีรพงษ์ (2534 : 37) กล่าวว่า การเล่นเกมทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้น เกิดความสนุกสนานและช่วยเสริมการเรียนรู้ในเรื่องของคำศัพท์ได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนตนเองอยู่เสมอ ก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ นอกจากนี้การที่นักเรียนจดจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้อย่างแม่นยำและมีความคงทนในการจำคำศัพท์เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้นักเรียนเรียนภาษาอังกฤษได้ดีซึ่งสอดคล้องกับที่ วรรณพร ศิลาขาว Z2538 : บทคัดย่อ) ได้ทำการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์และความคงทนในการเรียนรู้คำศัพท์วิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่มีเกมและไม่มีเกมประกอบ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2538 ของโรงเรียนวัดทรัพย์สโมสร กรุงเทพมหานคร จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คนและกลุ่มควบคุม 1 ห้องเรียน จำนวน 30 คน ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่มีเกมประกอบ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่ไม่มีเกมประกอบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และยังพบว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่มีเกมประกอบ มีความคงทนในการเรียนรู้สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนโดยใช้แบบฝึกหัดที่ไม่มีเกมประกอบ อย่างมีนัยสำคัญสถิติที่ระดับ .05 จะเห็นได้ว่าการใช้เกมส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาการใช้เกมคำศัพท์เข้ามาประกอบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดความคงทนในการเรียนรู้คำศัพท์และการเรียนรู้คำศัพท์ของนักเรียนจะเป็นไปอย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสอนคำศัพท์นักเรียนต่อไป