ชื่องานวิจัย การส่งเสริมการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ผ่านการเขียนอธิบายของนักเรียนที่ใช้การจัดกิจกรรม
การเรียนการสอนวิธีการแบบเปิด สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ชื่อผู้วิจัย นางสาววรรณี บุญเต็ม
กลุ่มสาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
งานวิจัยในชั้นเรียนฉบับนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ลักษณะการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ผ่านการเขียนอธิบายของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ใช้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยวิธีการแบบเปิด
กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวน
34 คน โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมน์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องแผนภาพเวนน์ ภายใต้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียน การสอนด้วยวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ซึ่งเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่เป็นสถานการณ์ปัญหาปลายเปิด เพื่อให้นักเรียนเน้นการแก้ปัญหา ผ่านชิ้นงาน/ภาระงานของนักเรียน 4 ประเภท ได้แก่ 1) ใบกิจกรรม 2) การเขียนอธิบายการแก้ปัญหา 3) เจตคติทางคณิตศาสตร์ 4) การเขียนสรุปเรื่องแผนภาพเวนน์ ซึ่งเป็นงานเขียนที่เน้นให้นักเรียนเกิดความพยายามในการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์โดยใช้วิธีการเขียน อธิบายทางคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ผ่านการเขียนอธิบาย และแบบบันทึกหลังการสอน ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องแผนภาพเวนน์ ซึ่งเป็นบันทึกหลังการสอนที่ครูผู้สอนบันทึกหลังจากจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้
ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ผ่านการเขียนอธิบายของนักเรียน โดยใช้วิธีการแบบเปิด (Open Approach) ตามแนวคิดของ Emori (2005) ได้แก่ ความถูกต้องแม่นยำ ความคุ้มค่า และความเป็นอิสระของการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบงานเขียนที่มีลักษณะแตกต่างกันเพื่อต้องการให้นักเรียนเกิดคุณลักษณะของการสื่อสารที่ครบทั้ง 3 ลักษณะ ผลจากการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนผ่านรูปแบบงานเขียนในลักษณะที่ต่างกัน ทำให้นักเรียนเกิดความพยายามต้องการสื่อสารการเขียนอธิบายของตนเอง ด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์โดยการเชื่อมโยงความรู้ หลักการ และเหตุผลทางคณิตศาสตร์ให้เพื่อนสมาชิกที่รับสารได้เข้าใจแนวคิดและเหตุผล นำไปสู่การยอมรับและแบ่งปันแนวคิดทางคณิตศาสตร์ร่วมกันทั้งชั้นเรียน ซึ่งทำให้นักเรียนมีการพัฒนาการเขียนอธิบายแนวคิดและเหตุผลทางคณิตศาสตร์ของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานของการวิจัยที่ตั้งไว้