บทที่ 1
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุมีผล เป็นระบบ มีระเบียบ มีแบบแผน สามารถคิดวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณิตศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต (กลุ่มส่งเสริมการเรียนการสอนและประเมินผล สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2548) นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังช่วยพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ สามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข (สำนักทดสอบทางการศึกษา, 2546) คณิตศาสตร์เป็นสิ่งสร้างสรรค์จิตใจ คำว่าคณิตศาสตร์ไม่ใช่หมายความเพียงตัวเลข ซึ่งเกี่ยวกับจำนวนต่าง ๆ และการคำนวณ คณิตศาสตร์มีความหมายมากกว่าพีชคณิตที่จะศึกษาเพียงรูปร่างและขนาด มีความหมายมากกว่าตรีโกณมิติซึ่งเกี่ยวกับการวัดระยะทาง มีความหมายมากกว่าวิชาสถิติ และวิชาแคลคูลัส (ยุพิน พิพิธกุล, 2519) คณิตศาสตร์เป็นวิชาหนึ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับมนุษย์มากโดยเฉพาะในส่วนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต เพราะคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สร้างสรรค์จิตใจของมนุษย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดกระบวนการและเหตุผล คณิตศาสตร์ฝึกให้คนคิดอย่างมีระบบ ระเบียบและเป็นรากฐานของวิทยาการสาขาต่างๆ แต่คณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นนามธรรม เนื้อหาบางตอนก็ยากที่ครูจะอธิบายให้นักเรียนเข้าใจและไม่เบื่อหน่าย ตลอดจนช่วยให้นักเรียนมีความเจริญงอกงามทั้งทางร่างกาย สติปัญญาอารมณ์และสังคม (ฉวีวรรณ เศวตมาลย์, 2544)
การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องยึดหลักการว่าผู้เรียนทุกคนมีความรู้ความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้จึงต้องจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิดการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดการเรียนรู้โดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ และปลูกฝังคุณธรรมค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการจัดการเรียนรู้และนวัตกรรมการเรียนการสอนแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้การจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองหลักการที่กล่าวข้างต้นสามารถทำได้หลายรูปแบบได้แก่ การจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (เรวดี กระโหมวงศ์, มปป.)
เจตคติต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้กล่าวคือนักเรียนจะสามารถเรียนรู้วิชาใดๆ ได้ดีขึ้นหากนักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชานั้นๆ ดังนั้นนักเรียนที่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาใดย่อมทำให้การเรียนวิชานั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร นักเรียนที่มีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ก็จะทำให้การเรียนคณิตศาสตร์ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะจะทำ ให้นักเรียนไม่สนใจไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ไม่เห็นคุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์และเห็นว่าวิชาคณิตศาสตร์น่าเบื่อหน่าย ลักษณะของนักเรียนที่เรียนอ่อนคณิตศาสตร์ มักจะมีเจตคติทางลบต่อวิชาคณิตศาสตร์คิดว่าตนเป็นผู้ล้มเหลวเสมอ ไม่ชอบเข้าชั้นเรียน ไม่ชอบทำงาน ชอบรบกวนการเรียนของคนอื่น เบื่อหน่ายการเรียน อยากหนีโรงเรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งสิ้น ดังนั้น การที่นักเรียนจะเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นนั้นนักเรียนจะต้องมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ ครูจึงต้องหาวิธีการสอนที่สามารถกระตุ้นให้นักเรียนสนใจในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น (จุฑามาส รัตนอุดม, 2556)
การจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ นอกจากจะมุ่งให้นักเรียนมีความรู้ และทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย คือการมีเจตคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ เนื่องจากเจตคติเป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของนักเรียน เจตคติต่อคณิตศาสตร์จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับพฤติกรรมการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียน และมีผลต่อความสำเร็จในการเรียนคณิตศาสตร์และการนำความรู้คณิตศาสตร์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง เจตคติต่อคณิตศาสตร์ เป็นความรู้สึกของนักเรียนที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์ที่ส่งผลให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อวิชาคณิตศาสตร์ในลักษณะของความชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ เห็นคุณค่า รวมทั้งความพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนอาจเป็นทางบวกและทางลบโดยเจตคติทางบวกเช่น การตระหนักในประโยชน์ของคณิตศาสตร์ ความรู้สึกชอบทำงานที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ ความพอใจที่ได้รับมอบหมายงานคณิตศาสตร์ หรืออาจเป็นเจตคติทางลบ เช่น การการเห็นว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องนามธรรมและไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงความรู้สึกไม่ชอบทำการบ้านคณิตศาสตร์ การหลีกเลี่ยงที่จะค้นคว้างานคณิตศาสตร์อย่างไรก็ตาม เจตคติต่อคณิตศาสตร์อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อนักเรียนมีประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ที่แตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมซึ่งประสบการณ์ที่ได้ก็จะมาจากการเรียนในห้องเรียน นวัตกรรมในการเรียนจึงมีความสำคัญมาก (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2555)
การจัดการเรียนการสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท (Explicit Teaching) เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบตรง (Direct Intruction) โดยโรเซนไซน์และสตีเวน ได้ออกรูปแบบการสอน และนำไปใช้ในการจัดการสอนในรายวิชาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสอนที่ต้องคำนึงถึงหลักการเรียนรู้ พฤติกรรมการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ดังนัน้ในกระบวนการขั้นตอนการเรียนการสอน จะมุ่งเน้นพฤติกรรมระหว่างผู้เรียนกับครูตลอดกระบวนการ สิ่งสำคัญก็คือในการเรียนรู้ของนักเรียนนั้น ครูต้องทบทวนความรู้เดิมหรือความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้เรื่องใหม่ หรือทักษะใหม่ของนักเรียน ซึ่งการทบทวนความรู้นี้มีความจำเป็นเท่ากับการให้ความรู้ ดังนั้นครูจะต้อง มีการทบทวนที่ถูกวิธี เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้เรื่องใหม่ทักษะใหม่ทุกครั้ง (ศิรดา เอียดแก้ว, 2548)
จากผลสัมฤทธิ์ในปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางด้านการเรียน เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น นักเรียนส่วนใหญ่ได้ผลสอบระหว่างภาคเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งสามารถสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดังนี้ คือนักเรียนมีความแตกต่างทางด้านพื้นฐานทางความรู้โดยการใช้ทักษะการคิดคำนวณ และแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ และเมื่อนักเรียนต้องทำแบบฝึกหัดที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้ไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้ ทำให้มีนักเรียนบางส่วนขาดความพยายามในการฝึกทักษะในการแก้โจทย์ปัญหา และไม่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการการทำแบบฝึกหัดได้ ทำให้ผู้เรียนขาดความเชื่อมั่นในตัวเองและมักจะอ้างเหตุผลว่าทำไม่ได้, ไม่เข้าใจ, ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ผลที่ตามมาคือสอบไม่ผ่าน ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำลงและทำให้นักเรียนมีเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์น้อยลง
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยเห็นถึงปัญหาในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยพบว่านักเรียนขาดเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจในบทเรียนเท่าที่ควร หากนักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนก็จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้นด้วย ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเจตคติ และ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
คำถามวิจัย
1. วิธีการแบบเอ็กซ์พลิซิทร่วมกับการใช้แบบฝึกทักษะเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนหรือไม่
2. เจตคติของนักเรียนที่มีต่อวิชาคณิตศาสตร์หลังการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการแบบเอ็กซ์พลิซิทเป็นอย่างไร
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่ได้จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีแบบเอ็กซ์พลิซิทร่วมกับการใช้แบบฝึกทักษะเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
2. เพื่อศึกษาเจตคติคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เรียนจากการจัดการเรียนรู้โดยวิธีแบบเอ็กซ์พลิซิท
ขอบเขตของการวิจัย
1. กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ได้มาโดยการเจาะจง ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562ที่เรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน จำนวน 27 คน โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
2. ขอบเขตของเนื้อหา
เนื้อหาในการวิจัยได้แก่ เจตคติของนักเรียนในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีแบบเอ็กซ์พลิซิท เวลาในการสอน 18 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง
3. ตัวแปรที่จะศึกษา
ตัวแปรต้น ได้แก่ การจัดการเรียนรู้โดยวิธีแบบเอ็กซ์พลิซิท
ตัวแปรตาม ได้แก่ เจตคติของนักเรียนในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
4. ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย ทำการศึกษาภาคเรียนที่ 2ปีการศึกษา 2562ตั้งแต่วันที่ 10กรกฎาคม 2561 วันที่ 12 กันยายน 2561
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. วิธีการสอนแบบเอ็กซ์พลิซิท หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้ผู้เรียน เกิดความรู้ ความจำ ความเข้าใจเนื้อหาและสามารถนำไปใช้ได้โดยมี 6 ขั้นตอนในการสอน เหมาะกับเนื้อหาที่เป็นความรู้หรือ หลักการ ซึ่งมี 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.1 การทบทวนความรู้เดิมและการบ้าน
1.2 การนำเสนอเนื้อหาสาระหรือทักษะใหม่
1.3 การฝึกปฏิบัติ
1.4 การให้ข้อมูลย้อนกลับและแก้ไขการปฏิบัติของผู้เรียน
1.5 การให้ผู้เรียนฝึกอย่างอิสระ
1.6 ขั้นทบทวนรายสัปดาห์ และรายเดือน
2. เจตคติ หมายถึง เจตคติหรือทัศนคติ เป็นความรู้สึกเชื่อ ศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด จนเกิดความพร้อมที่จะแสดงการกระทำออกมา ซึ่งอาจจะไปในทางดีหรือไม่ดีก็ได้ เจตคติยังไม่เป็นพฤติกรรมแต่เป็นตัวการที่จะทำให้เกิดพฤติกรรม ดังนั้น เจตคติจึงเป็นคุณลักษณะของความรู้สึกที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในใจ
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติอันเกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งอาจวัดได้จากการทดสอบระหว่างหรือหลังการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้วยการทดสอบหรือวิธีการอื่น ๆ นอกจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะบอกคุณภาพของนักเรียนแล้วยังแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของหลักสูตร คุณภาพของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนความรู้ความสามารถของครูผู้สอนและผู้บริหารอีกด้วย
4. นักเรียน หมายถึง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/1ปีการศึกษา 2562โรงเรียน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
ประโยชน์ของการวิจัย
1. นักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีการแบบเอ็กซ์พลิซิท มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
2. นักเรียนที่เรียนโดยวิธีการแบบเอ็กซ์พลิซิท มีเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์หลังเรียนดีกว่าก่อนเรียน
3. ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนดียิ่งขึ้น
4. ครูได้พัฒนาทักษะการสอนโดยวิธีการแบบเอ็กซ์พลิซิทได้ดียิ่งขึ้น