บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนา
อย่างยั่งยืนของโรงเรียนเทศบาลแสงวณิชอุปถัมภ์
ชื่อผู้จัดทำ นางสาวกุลวณิช มีกุล
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาลแสงวณิชอุปถัมภ์
สังกัดเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโรงเรียนเทศบาลแสงวณิชอุปถัมภ์ ทั้ง 3 ปีการศึกษา ได้แก่ ปีการศึกษา 2561 ปีการศึกษา 2562 และปีการศึกษา 2563 โดยประเมิน 8 ด้าน ดังนี้ 1) ประเมินสภาวะแวดล้อม (Context evaluation) 2) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input evaluation) 3) ประเมินกระบวนการ (Process evaluation) 4) ประเมินผลผลิต (Product evaluation) 5) ประเมินผลกระทบ (Impact evaluation) 6) ประเมินประสิทธิผล (Effectiveness evaluation) 7) ประเมินความยั่งยืน (Sustainability evaluation) และ 8) ประเมินการถ่ายโยงความรู้ (Transportability evaluation) ของโครงการโรงเรียนพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโรงเรียนเทศบาลแสงวณิชอุปถัมภ์
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินในครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มตัวอย่างของปีการศึกษา 2561 คือ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน จำนวน 62 คน กลุ่มตัวอย่างของปีการศึกษา 2562 คือ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน จำนวน 70 คน กลุ่มตัวอย่างของปีการศึกษา 2563 คือ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน จำนวน 70 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( xˉ ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1. การประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโรงเรียนเทศบาลแสงวณิชอุปถัมภ์ ของปีการศึกษา 2561 2562 และ 2563 พบว่ามีผลการประเมิน โดยรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านโดยเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ ด้านผลผลิต ด้านสภาพแวดล้อม และ ด้านประสิทธิผล
2. การประเมินสภาวะแวดล้อม พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด วัตถุประสงค์ของการประเมินโครงการโรงเรียนพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโรงเรียนเทศบาลแสงวณิชอุปถัมภ์ มีความสอดคล้องกับสภาพความต้องการของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน
3. การประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก ครูและนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการ
4. การประเมินกระบวนการดำเนินงาน พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก รูปแบบการจัดกิจกรรมในโครงการช่วยให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน
5. การประเมินผลผลิต พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการดำเนินกิจกรรม ทำให้นักเรียนมีทักษะพื้นฐานในการอดออม (กิจกรรมออมไม่อด)
6. การประเมินด้านผลกระทบ พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมมีความเหมาะสมอยู่ใน ระดับมาก ผลการเรียนรู้จากกิจกรรมในโครงการทำให้ครูและนักเรียนสามารถดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเหมาะสม
7. การประเมินด้านประสิทธิผล พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก หลังจากที่นักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมในโครงการแล้ว นักเรียน มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์มากขึ้น
8. การประเมินด้านความยั่งยืน พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก หลังจากที่โรงเรียนได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในโครงการแล้ว ควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป
9. การประเมินด้านการถ่ายโยงความรู้ พบว่ามีผลการประเมินโดยรวมอยู่ในระดับมาก นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลในครอบครัวของตนเองได้