การประเมินโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ โดยใช้รูปแบบ CIPPiest Model ของ Danial L. Stufflebeam and others. (2007) ประกอบด้วย ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) ด้านผลผลิต (Product) ด้านผลกระทบ (Impact) ด้านประสิทธิผล(Effectiveness) ด้านความยั่งยืน(Sustainability) ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการศึกษา ด้านพัฒนาบุคลากร ด้านสถิติและวิจัย จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) จำนวน 12 คน ซึ่งเลือกแบบเจาะจง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคน ยกเว้นผู้บริหารและครู ครูและบุคลากร โรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 จำนวน 69 คน นักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 จำนวน 265 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่ แบบประเมินโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ประกอบด้วย ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิตใช้แบบประเมินการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านของนักเรียน ด้านผลกระทบ พิจารณาการมีส่วนร่วมของภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านต่อโครงการ และพิจารณาจากความพึงพอใจ ด้านประสิทธิผล ใช้แบบทดสอบถูก ผิด เพื่อประเมินความรู้ ความเข้าใจ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านของนักเรียน และแบบสำรวจรายการทักษะของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ที่ได้รับเพื่อประเมินทักษะที่ได้รับจากแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน และด้านความยั่งยืนใช้แบบประเมิน การนำความรู้และทักษะของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 มาประยุกต์ใช้ในการเรียนและชีวิตประจำวัน และด้านการถ่ายทอดส่งต่อ ใช้แบบบันทึกการเป็นแกนนำ/ใบประกาศเกียรติคุณ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสอบถามความคิดเห็นและใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าร้อยละ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเกี่ยวกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้
ด้านบริบท (Context) พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความคิดเห็นว่า โครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 โดยรวม มีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษา สภาพปัจจุบัน ปัญหา ความต้องการและความจำเป็นในการดำเนินงาน อยู่ในระดับมากที่สุด ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากร มีความคิดเห็นว่า ปัจจัยนำเข้า ที่ใช้ในการดำเนินโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 ในด้านงบประมาณ บุคลากร อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากร มีความคิดเห็นว่า ขั้นตอน กระบวนการในการดำเนินโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 โดยรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านผลผลิต (Product) พบว่า นักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ร้อยละ 100 เข้าร่วมกิจกรรมโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งผลการประเมินการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน พบว่าจำนวนนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่าร้อยละ 80 ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านผลกระทบ (Impact) พบว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับกิจกรรมโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ครูและบุคลากร มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน โดยรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งการประเมินผลกระทบทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ การมีส่วนร่วมของภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน และการประเมินความพึงพอใจของครูและบุคลากร ที่มีต่อการจัดกิจกรรมโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ปีการศึกษา 2563 ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านประสิทธิผล (Effectiveness) พบว่า นักเรียน ร้อยละ 100 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด และนักเรียนมากกว่าร้อยละ 50 มีทักษะของผู้เรียนศตวรรษที่ 21 ซึ่งการประเมินประสิทธิผลทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ การประเมินความรู้ ความเข้าใจ แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน และการประเมินทักษะของผู้เรียนศตวรรษที่ 21 จากแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน เมื่อเข้าร่วมโครงการที่โรงเรียนจัดขึ้น ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านความยั่งยืน (Sustainability พบว่า นักเรียนมากกว่าร้อยละ 20 นำความรู้และและทักษะของผู้เรียนศตวรรษที่ 21 ไปใช้ในชีวิตประจำวันจนได้รับการยอมรับจากชุมชน ซึ่งผลการประเมินด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นการประเมินการรักษาและคงไว้ซึ่งความสำเร็จของโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด
ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability ) พบว่า นักเรียนมากกว่าร้อยละ 10 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวอย่าง/แกนนำการนำความรู้และและทักษะของผู้เรียนศตวรรษที่ 21 ไปใช้ในชีวิตประจำวันภายหลังเข้าร่วมกิจกรรม/โครงการภายใต้โครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 ซึ่งผลการประเมินด้านการถ่ายทอดส่งต่อ ถือว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน
จากผลการประเมินโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ปีการศึกษา 2563 ตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู บุคลากร และนักเรียน ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน และด้านการถ่ายทอด ส่งต่อ พบว่า ผ่านเกณฑ์ การประเมินที่กำหนดไว้ทั้ง 8 ด้าน ดังนั้น จึงมีความเหมาะสมมาก ที่จะดำเนินงานโครงการศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ของโรงเรียนเทศบาล ๔ (บ้านทรายทอง) ในปีต่อๆ ไป