ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดเชิงระบบ (SLC Model)
เรื่อง กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นิตนาท ศรีราตรี
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ ในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดเชิงระบบ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดเชิงระบบ (SLC Model) เรื่อง กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการดำเนินการวิจัย ดำเนินการตามแบบแผนการวิจัยและพัฒนา (Research and development : R & D) มี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ระยะที่ 2 การสร้างและพัฒนารูปแบบ ระยะที่ 3 การนำรูปแบบไปใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนไพรธรรมคุณวิทยา ตำบลไพร อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จำนวนนักเรียน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random sampling) และระยะที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้ คู่มือการจัดการเรียนรู้ ตามรูปแบบ SLC Model เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงระบบ แบบประเมินทักษะการคิดเชิงระบบ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเทคโนโลยี 1 และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์โดยใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครูผู้สอนสังกัดกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความต้องการในด้านเทคนิคการสอนที่ใช้ในวิชาเทคโนโลยีในระดับมากที่สุด โดยข้อที่มีความต้องการในระดับมากที่สุด คือ มีกิจกรรมการสะท้อนความคิด (การแสดงความคิดเห็นของตนเองและรับฟังผู้อื่นโดยการพูด เขียน แสดงความคิดเห็นกับเพื่อนหรือครูผู้สอน) รองลงมาคือ มีกิจกรรมการเรียนรู้แบบบรรยายและอภิปรายกลุ่ม ส่วนด้านการใช้สื่อ นวัตกรรมและบรรยากาศการเรียนการสอน มีความต้องการในระดับมาก
2. ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดเชิงระบบ (SLC Model) เป็นรูปแบบที่อาศัยแนวคิดหลักเกี่ยวกับกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม แนวคิดการจัดการเรียนรู้สะเต็มศึกษา (STEM Education) แนวคิดการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ ชุดกิจกรรม (Learning Package) และทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองโดยการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Constructionism Theory) มีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล และสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ มีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ระบุปัญหา ขั้นที่ 2 รวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ขั้นที่ 3 ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา ขั้นที่ 4 วางแผนและดำเนินการแก้ปัญหา ขั้นที่ 5 ทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ไขปัญหาหรือแก้ไขชิ้นงาน และขั้นที่ 6 นำเสนอวิธีการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน จากการประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบ มีคุณภาพและความเหมาะสมในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ย 4.52
3. ผลการนำรูปแบบไปใช้ พบว่า นักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดเชิงระบบ (SLC Model) เรื่อง กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีคะแนนทักษะการคิดเชิงระบบอยู่ในระดับดี ค่าเฉลี่ย 15.57 เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ด้านรวบรวมข้อมูลและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมา คือ การทดสอบ ประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขวิธีการแก้ปัญหาหรือชิ้นงาน และนักเรียนมีคะแนนทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
4. การประเมินผลการใช้รูปแบบ พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดเชิงระบบ (SLC Model) เรื่อง กระบวนการออกแบบ เชิงวิศวกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยรวมนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด (x̄= 4.54, S.D. = 0.56)